ลดภาระงาน ที่ไม่ใช่งานสอน คืนครูให้ห้องเรียน คืนเวลาให้การศึกษา

ลดภาระงาน ที่ไม่ใช่งานสอน คืนครูให้ห้องเรียน คืนเวลาให้การศึกษา

“การลดภาระงานควรเน้น นำงานที่ไม่ใช่งานครูออกไป ไม่ใช่แค่ ลดภาระงาน” นี่คือความเห็นจาก ตัวแทนครู เครือข่ายครูขอสอน ถึงแนวทางการลดภาระงานของครู เพื่อคืนครูให้ห้องเรียนจากเวทีสาธารณะ “ทบทวนภาระงานสถานศึกษา ปลดภาระงานที่ไม่ใช่งานสอน” เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 จัดโดยสภาผู้บริโภค

เวทีสาธารณะในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อ ร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาและข้อเสนอแนะในการแก้ไขภาระงานครูที่กำลังล้นเกินจนกระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอน เพื่อนำไปสู่การผลักดันนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคด้านการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ อนุกรรมการด้านการศึกษา สภาผู้บริโภค กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของเวที พร้อมแจ้งข่าวดีว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ได้ประกาศยกเลิกภาระงานที่ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนถึง 52 รายการจาก 114 รายการ ถือเป็นขวัญกำลังใจที่ดีแก่ครูและโรงเรียนทั่วประเทศ

ดร.ศุภโชค ชี้ว่ายังมีภาระงานอีก 62 รายการที่ต้องทบทวนต่อ โดยควรพิจารณาให้ลึกถึงระดับการออกแบบระบบใหม่ที่ป้องกันไม่ให้ภาระงานงอกขึ้นอีกในอนาคต โดยเฉพาะโครงการใหม่ที่มักตามมาด้วยการรายงาน เก็บข้อมูล และประเมินผล ซึ่งควรพัฒนาให้สอดคล้องกับโลกเทคโนโลยีและไม่กระทบเวลาการสอนของครู พร้อมนำเสนอข้อมูลจากการสำรวจว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองสามารถจัดหาบุคลากรสนับสนุนได้เพียงพอ ต่างจากโรงเรียนขนาดเล็กหรือชนบทที่ครูยังต้องรับภาระงานนอกเหนือจากการสอนอยู่มาก จึงต้องเร่งแก้ไขเพื่อความเท่าเทียมในระบบการศึกษา

ภาระงานมองไม่เห็น บั่นทอนคุณภาพการสอน

ว่าที่เรือตรีธนวรรธน์ สุวรรณปาล เครือข่ายครูขอสอน ระบุว่า หากต้องการกำหนดภาระงานของครูให้เหมาะสม ควรยึดตามมาตรฐานวิชาชีพครูที่กำหนดขอบเขตของงานหลักอย่างชัดเจน เช่น การจัดการเรียนรู้ จิตวิทยาการศึกษา การวัดประเมินผล และหลักสูตร พร้อมชี้ว่าปัญหาสำคัญอยู่ที่การตีความ งานสนับสนุนวิชาการและพัฒนาการศึกษาของสถานศึกษา ซึ่งเปิดช่องให้ครูถูกมอบหมายงานที่ไม่เกี่ยวกับการสอนอย่างไม่มีขอบเขต

เขาเล่าถึงปมปัญหาที่เกิดขึ้นว่า แม้งานสนับสนุนจะมีความสำคัญ แต่ไม่ควรผลักภาระทั้งหมดให้ครูผู้สอน โดยเฉพาะเมื่อการดูแลเด็กและการสอนต้องใช้พลังงานและเวลามากกว่าที่หลายฝ่ายเข้าใจ

ว่าที่เรือตรีธนวรรธน์ยังให้ความเห็นต่อแนวคิดที่ว่า ครูควร บริหารเวลา หรือ เสียสละ ซึ่งนำไปสู่ภาระงานที่มองไม่เห็นและลดคุณภาพการสอน เช่น โรงเรียนประถมที่ครูต้องสอนถึง 30 คาบต่อสัปดาห์ อีกทั้งยังตั้งคำถามถึงความเพียงพอของบุคลากรธุรการ และเสนอให้มีการทบทวนโครงสร้างภาระงานใหม่ แยกงานสอนออกจากงานอื่น พร้อมรับฟังเสียงครูอย่างแท้จริงว่ามีนโยบายใดบ้างที่ช่วยให้ครูกลับไปทำหน้าที่สอนได้เต็มที่

ขณะที่ ราเมศร์ ทองกลม ผู้แทนครู แม้จะเป็นครูโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ก็มีภาระงานที่ไม่ต่างจากโรงเรียนขาดอื่นเช่นกัน เขาสะท้อนภาพชัดเจนถึงโรงเรียนที่มีนักเรียนเพียง 15 คน ครู 2 คน แต่ต้องแบกรับภาระงานบริหารเทียบเท่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ บุคคล การเงิน พัสดุ อาหารกลางวัน แม้จำนวนครูและบุคลากรจะมีจำกัด เขาชี้ว่ามาตรฐานการประเมินของโรงเรียนทุกขนาดใช้เกณฑ์เดียวกัน ทำให้ครูต้องทำงานเกินขอบเขตหน้าที่หลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“แค่ลดภาระลงเพียงเรื่องเดียว ก็ช่วยให้ครูได้มีเวลาจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพมากขึ้น”

เขาย้ำว่า การลดภาระงานตามนโยบายของรัฐมนตรี แม้จะล่าช้าในบางเรื่อง ก็ยังเป็นก้าวสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่ได้ประโยชน์ชัดเจน เพราะแม้งานลดลงเพียงเล็กน้อย ก็สามารถคืนเวลาให้ครูนำไปใช้เตรียมการสอนและดูแลนักเรียนได้มากขึ้น พร้อมฝากถึงผู้มีอำนาจให้ฟังเสียงของครูหน้างานจริง และยืนยันว่า ครูไม่ได้ขี้เกียจ แต่ต้องการระบบที่ดีขึ้นเพื่อกลับไปทำหน้าที่สอนได้เต็มที่ เพื่อส่งผลต่อคุณภาพนักเรียนไทยในระยะยาว

ด้าน อนุสรณ์ พรมรังกา ผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐราษฎร์บำรุง เปรียบสถานศึกษาว่าเป็นเหมือน นักมวยบนเวที ที่ต้องรับคำสั่งจากหลายทิศทางจนละเลยภารกิจหลัก นั่นคือการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน พร้อมเสนอว่าทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาคือการลดการกำกับติดตาม และให้ความไว้วางใจแก่โรงเรียนและครูมากขึ้น

ผอ.อนุสรณ์ ระบุว่าการมองเฉพาะอัตรากำลังของครูผู้สอนโดยไม่คำนึงถึงบุคลากรสนับสนุน เป็นสาเหตุที่ทำให้งานครูไม่ราบรื่น พร้อมเสนอ 6 แนวทางสำคัญ เช่น การลดภาระงานที่ไม่จำเป็นเพื่อคืนเวลาให้ครูพัฒนาการสอน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก ตลอดจนเรียกร้องให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นจากครูหน้างานอย่างสม่ำเสมอ และลงทุนในบุคลากรสนับสนุนอย่างจริงจัง เพื่อให้ระบบการศึกษาเดินหน้าอย่างยั่งยืน

สังคม จันทร์วิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาการบริหารทรัพยากรบุคคล สพฐ. ได้กล่าวชื่นชมการปรับตัวอย่างรวดเร็วของ สพฐ. ภายใต้รัฐมนตรีคนใหม่ ที่ลดโครงการลงได้ถึง 52 รายการจากทั้งหมด 114 รายการ พร้อมเผยถึงปัญหา ครูไทย 5 ป ได้แก่ ประชุม ประกวด ประเมิน ประกัน และประชวร เนื่องจากกรอบภาระงานครูเชื่อมโยงหลายหน่วยงาน แต่มีความหวังว่าในอนาคตจะสามารถลดภาระงานลงได้อีก โดยเฉพาะการประเมินและการประกวดที่ควรรวมตัวชี้วัดให้ประเมินครั้งเดียวจบ พร้อมย้ำถึงความจำเป็นในการแยกบทบาท ครูผู้สอน ออกจาก สายสนับสนุนการสอน อย่างชัดเจน และเสนอให้ลดชั่วโมงสอนครู เพื่อให้มีเวลาเตรียมการสอน ทำสื่อ และพัฒนาตนเอง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ลดภาระงานอย่างเป็นระบบ ปรับโครงสร้างและใช้เทคโนโลยี

สำหรับ ณฐิณี สงกุมาร ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ มองภาพรวมปัญหาภาระงานครูจากมุมมองของหน่วยงานกลาง โดยระบุว่า ปัญหาหลักของระบบราชการไทยในทุกองค์กร คือ โครงสร้างที่ไม่เอื้อต่อภารกิจ บุคลากรไม่เพียงพอ และข้อจำกัดด้านงบประมาณ

ทั้งนี้ ยังเสนอให้ใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยลดภาระงานเอกสารและการรายงานที่ซ้ำซ้อน เช่น การจัดทำแพลตฟอร์มกลางเพื่อให้หน่วยงานสามารถดึงข้อมูลจากแหล่งเดียวกัน ไม่ต้องให้โรงเรียนรายงานซ้ำหลายครั้ง พร้อมชี้ถึงความซ้ำซ้อนของหน่วยงานในพื้นที่ เช่น สพท. และศึกษาธิการจังหวัด ที่ควรจัดการบทบาทหน้าที่ให้ชัด และโยกย้ายบุคลากรให้เหมาะสม พร้อมแนะนำการใช้ระบบ e-office และ AI เพื่อลดภาระงานธุรการของครูอย่างเป็นระบบ

กฤตวรรณ เกิดนาวี ผู้อำนวยการสำนักจรรยาบรรณวิชาชีพและนิติการ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา อธิบายถึงบทบาทสำคัญของคุรุสภาในการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพครู ซึ่งเป็นเครื่องมือในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพและรับประกันคุณภาพครู โดยมาตรฐานครอบคลุม 3 ด้านหลัก ได้แก่ ความรู้และประสบการณ์ การปฏิบัติงาน และการปฏิบัติตน พร้อมย้ำว่าหัวใจของวิชาชีพครู คือ การจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนอย่างเต็มที่

เธอชี้ว่า ภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน เช่น งานธุรการหรือเอกสารต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับหน่วยงานต้นสังกัด และอยู่นอกเหนือขอบเขตของคุรุสภา แต่ยืนยันว่าภาระงานเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอนโดยตรง พร้อมเสนอให้ภาครัฐจัดบุคลากรสนับสนุนเพื่อช่วยแบ่งเบางานครู และให้ความสำคัญกับสถานศึกษาที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ โดยเฉพาะในเรื่องการจ้างครูอัตราจ้าง เพื่อให้ครูสามารถทุ่มเทกับภารกิจหลัก ได้แก่ การสอน การประเมิน และการดูแลนักเรียนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะนักเรียนที่มีความหลากหลายและเผชิญปัญหาหลายมิติ

ขณะที่ อรรถพล อนันตวรสกุล อนุกรรมการด้านการศึกษา สภาผู้บริโภค เน้นย้ำว่าเวทีนี้จัดขึ้นเพื่อให้ เสียงจากหน้างาน กลายเป็นสาระสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย พร้อมยกตัวอย่างกรณีลงโทษครูที่ทำงานพิเศษในร้านสะดวกซื้อ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลครูในฐานะวิชาชีพชั้นสูง เปรียบครู หมอ และตำรวจว่าเป็น 3 อาชีพที่ประเทศพัฒนาแล้วให้ความสำคัญอย่างจริงจัง แต่ในสังคมไทย ระบบการดูแลครูกลับยังล้าหลังและเต็มไปด้วยภาระงานที่ไม่ใช่งานสอน

พร้อมตั้งคำถามถึงระบบราชการที่ปล่อยให้ต้องเสียครูไป เพราะภาระงานธุรการและการเงินที่ไม่มีระบบกลั่นกรอง รวมถึงเสนอว่าการศึกษาควรถูกมองเป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ใช่แค่การใช้ทรัพยากรชั่วคราวตามแรงเหวี่ยงทางการเมือง ทั้งยังชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างระหว่างโรงเรียนในสังกัดต่าง ๆ อย่างโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรสนับสนุนเพียงพอ แต่โรงเรียนขนาดกลับขาดแคลน พร้อมเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการปรับทัศนคติ และลงมือแก้ปัญหาที่โครงสร้างอย่างแท้จริง

“เราปล่อยให้ภาระงานครู ท่วมท้นจนกระทั่งสร้างครูไม่ได้มีโฟกัสอยู่กับการสอนได้อย่างไร อย่าปล่อยให้งานเป็นภาระที่ทำให้ครูต้องแบกรับ ท่านมีส่วนสำคัญในการปลดเปลื้องภาระงานเหล่านั้นเพื่อปลดปล่อยศักยภาพของโรงเรียนและของครู” อรรถพลกล่าว

เสียงสะท้อนจากเวทีเสวนาในครั้งนี้ สอดคล้องกันว่า หากต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ต้องเริ่มต้นจากการคืนเวลาและพลังให้ครูได้ทำหน้าที่สอนอย่างแท้จริง โดยการลดภาระงานที่ไม่จำเป็น สนับสนุนบุคลากรให้เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องอาศัยการปรับโครงสร้าง การจัดสรรบุคลากรสนับสนุนที่เพียงพอ การใช้เทคโนโลยี และการบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วนและหน่วยงาน เพื่อปลดล็อกศักยภาพของครูและโรงเรียนให้สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ