ป้องกันเหตุอาหารปนเปื้อน ต้องมีระบบเรียกคืน และตรวจสอบย้อนกลับ

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาอาหารไม่ปลอดภัย แนะควรสร้างระบบเรียกคืนสินค้าและตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภค

จากกรณีเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) จากการบริโภคไส้กรอกไม่มียี่ห้อและไม่มีเอกสารกำกับ จำนวน 6 ราย ใน 5 จังหวัด จนนำไปสู่การตรวจสอบ จับกุม และกวาดล้างแหล่งผลิตไส้กรอกที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. พร้อมอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ และตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้าร่วมประชุมหารือกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ในประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เข้าร่วมประชุมด้วย

ในการประชุมดังกล่าว มีประเด็นที่สำคัญ 3 ประเด็น คือ 1. เสนอให้มีระบบการเรียกคืนสินค้าประเภทอาหาร ในกรณีที่พบการปนเปื้อนหรือเข้าข่ายอาหารอันตราย 2. เสนอให้มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในกรณีที่พบอาหารไม่ปลอดภัย เพราะจะทำให้สามารถสืบพบต้นตอของปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังลดโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบจากอาหารไม่ปลอดภัย และ 3. เสนอให้ อย. ยกระดับความสำคัญของกระบวนการตรวจสอบ จัดการปัญหาหลังจำหน่าย หรือโพสต์มาร์เก็ตติ้ง (Post-Marketing) ให้เท่ากับกระบวนการตรวจสอบ อนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายสินค้า หรือพรีมาร์เก็ตติ้ง (Pre-Marketing)

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สอบ. มองว่า สาเหตุที่ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัยวางจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาด ส่วนหนึ่งเกิดจากการตรวจสอบและอนุญาตอย่างรีบเร่ง ทำให้มีผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ ๆ ออกมาวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ได้ตรวจสอบที่มาและแหล่งผลิตอาหารนั้น ๆ อย่างเข้มงวด ขณะเดียวกันกระบวนการจัดการปัญหาและแจ้งเตือนภัย ในกรณีที่มีผู้ได้รับความเสียหายจากการบริโภคอาหารก็ค่อนข้างช้า ซึ่งหาก อย. มีข้อจำกัดเรื่องบุคลากร อาจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที

“เข้าใจว่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้การอนุญาต มักโดนแรงกดดันว่าอยากให้ตรวจสอบและอนุญาตผลิตภัณฑ์โดยเร็ว แต่การรีบเร่งอนุญาตและตามแก้ปัญหาในภายหลังนั้นไม่เป็นผลดีต่อใครเลย โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ต้องเป็นผู้รับความเสี่ยง ดังนั้น จึงอยากให้ อย. เพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการพรีมาร์เก็ตติ้ง และเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบและแจ้งเตือนภัย โดยระบุชื่อบริษัท ชื่อผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน” กรรณิการ์กล่าว

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุป และจะมีการจัดประชุมอีกครั้งในลำดับถัดไป เนื่องจากจำเป็นต้องรวบรวม แลกเปลี่ยนข้อมูล และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างถี่ถ้วน เพื่อผลักดันให้เกิดเป็น ‘นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์’ ที่ครอบคลุมและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และกระตุ้นเตือนให้ผู้บริโภคทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดจากผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่ไม่ปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะจัดงานแถลงข่าว ‘ผลทดสอบสารอันตรายในไส้กรอก’ ขึ้น ในวันที่ 29 มีนาคม 2565 เวลา 10.30 น. โดยผู้ที่สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดสดงานแถลงข่าวได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค