ดื่ม กิน อาบ จากต้นน้ำปนสารหนู ดัน กม.เปิดข้อมูลสารพิษ

Getting your Trinity Audio player ready...
แม่น้ำปนเปื้อนสารหนู

ผลตรวจพบสารหนูเกินค่ามาตรฐานในแหล่งน้ำ จ.เชียงราย สะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนของกฎหมายเปิดข้อมูลสารพิษ หรือ พีอาร์ทีอาร์ (PRTR) เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

จากกรณี ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เก็บตัวอย่างน้ำ 9 จุดในแม่น้ำสาย ตั้งแต่บริเวณชายแดนที่แม่น้ำสายไหลเข้าสู่ประเทศไทย จนถึงพื้นที่แม่น้ำโขงในเขตอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ผลการตรวจเบื้องต้นพบว่า มีสารหนูปนเปื้อนในน้ำเกินค่ามาตรฐานทุกจุด โดยค่าที่ตรวจพบอยู่ในช่วง 0.12 – 0.19 มิลลิกรัมต่อลิตร ขณะที่ค่ามาตรฐานของประเทศไทยกำหนดไว้ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร และองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อลิตร

แม้ การประปาส่วนภูมิภาค จังหวัดเชียงราย จะยืนยันว่าน้ำประปาที่ผ่านระบบสามารถกรองสารหนูได้ถึง 80% และน้ำที่ส่งถึงบ้านเรือนไม่พบการปนเปื้อน สามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่ ปัญหาที่แท้จริงคือแหล่งน้ำธรรมชาติที่ประชาชนในพื้นที่จำนวนมากยังคงใช้อุปโภค บริโภค หรือเลี้ยงสัตว์และจับสัตว์น้ำเพื่อดำรงชีวิต ซึ่งการสัมผัสหรือบริโภคน้ำจากแหล่งธรรมชาติที่ปนเปื้อนสารพิษในระยะยาว อาจก่อให้เกิดการสะสมสารพิษในร่างกายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยไม่รู้ตัว

ข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่า พื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำสายมีการทำเหมืองแร่โลหะหนักและแร่อื่น ๆ ซึ่งเป็นที่มาของการปนเปื้อนสารพิษ เช่น สารหนู โดยตรง กรณีนี้จึงสะท้อนถึงความล้มเหลวในการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อสิทธิของผู้บริโภคในการรับรู้และป้องกันตนเอง

ทำไมผู้บริโภคต้องรู้จักกฎหมาย PRTR

กฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) หรือกฎหมายว่าด้วยการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษและการเคลื่อนย้ายสารเคมีอันตราย เป็นเครื่องมือสำคัญในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เพราะจะทำให้เกิด ฐานข้อมูลระดับประเทศ ที่รวบรวมข้อมูลการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งทางอากาศ แหล่งน้ำ และดิน จากทุกแหล่งกำเนิด เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า เหมืองแร่ รถยนต์ รวมถึงการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม

หากกฎหมาย PRTR มีผลบังคับใช้ ประชาชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งมลพิษได้ทันทีผ่านระบบออนไลน์ ไม่ต้องขอเอกสารหรือผ่านกระบวนการราชการที่ยุ่งยากอีกต่อไป ทำให้สามารถ ป้องกันตนเองและครอบครัวจากความเสี่ยงต่อสุขภาพได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องรอให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น การเจ็บป่วยจากสารพิษหรืออุบัติภัยทางอุตสาหกรรม

นอกจากผู้บริโภคแล้ว กฎหมาย PRTR ยังเป็นประโยชน์ต่อ ภาครัฐ ในการกำหนดนโยบายและแผนการจัดการมลพิษอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยให้ ภาคอุตสาหกรรม พัฒนาและควบคุมระบบการผลิตของตนเองให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและความเสียหายทั้งต่อคนทำงานและชุมชนโดยรอบ

ร่าง พ.ร.บ. PRTR ถูกเสนอแล้ว แต่ยังไร้การพิจารณา

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชน ได้แก่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), กรีนพีซ ประเทศไทย และประชาชนกว่า 10,000 คน ได้ยื่นรายชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษและการเคลื่อนย้ายสารเคมีอันตราย (PRTR) ต่อรัฐสภา โดยปัจจุบัน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว และประธานสภาได้ บรรจุเรื่องเข้าวาระที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 แต่อย่างไรก็ตาม ผ่านมากว่าครึ่งปี ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังคงค้างอยู่ในระเบียบวาระ โดยไม่มีความคืบหน้าใด ๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สภาผู้บริโภคเรียกร้อง: ถึงเวลาบังคับใช้กฎหมาย PRTR

สภาผู้บริโภค เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องเร่งผลักดันให้ร่างกฎหมาย PRTR ผ่านการพิจารณาและบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้ใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่จำเป็นต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเอง

ทั้งนี้ สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ครบถ้วน คือสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคยังได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องในระดับนโยบาย โดยได้เสนอ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. … โดยระบุให้ผู้บริโภคมีสิทธิเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 10 ข้อ

หนึ่งในสิทธิที่ถูกเสนอเพิ่มเติมคือ สิทธิในการบริโภคที่ยั่งยืนและการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย” แม้ว่า ที่ผ่านมา สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคมักกระจัดกระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ และไม่ชัดเจนพอที่จะให้ประชาชนตระหนักและใช้สิทธินั้นได้จริง จึงถึงเวลาที่ต้อง บัญญัติเรื่องนี้ไว้ในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย

ขอบคุณข้อมูลจาก

ไม่รอด! แม่น้ำสาย-น้ำโขง เจอพิษสารหนูปนเปื้อน ทีมวิจัยเตือนภัยระดับภูมิภาค

ประปาเชียงราย เปิดระบบกำจัด ‘สารหนู’ หลังปนเปื้อนน้ำกก