ยื่นคมนาคม ยุติแผนเร่งย้ายรถไฟจากหัวลำโพง เหตุไม่พร้อม สร้างภาระปชช.

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย และองค์กรเครือข่าย รวมถึงสภาองค์กรของผู้บริโภคยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้ยุติแผนย้ายรถไฟออกจากหัวลำโพง ระบุ ความเร่งรีบ ขาดความพร้อม และไม่มีมาตรการรองรับที่ดี อาจส่งผลกระทบในการใช้บริการของผู้โดยสารอย่างแน่นอน

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ร่วมกับองค์กรเครือข่าย เช่น สมาพันธ์คนงานรถไฟ กลุ่มพนักงานรถไฟและครอบครัว และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) รวมถึงสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ตรวจสอบและทบทวนกำหนดแผนการปรับย้ายขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ (รถไฟทางไกล) จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ย้ายมาสถานีกลางบางซื่อ เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนและสร้างภาระให้ประชาชน โดยมี สุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการ รมว.คมนาคม เป็นผู้รับหนังสือแทน

รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเห็นว่าการยุติการเดินรถไฟทางไกลจำนวน 52 ขบวน ไม่ให้เข้าสถานีหัวลำโพงนั้น สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนเป็นอย่างมาก และจากการลงพื้นที่ในสถานีกลางบางซื่อ พบว่า สถานีดังกล่าวยังไม่มีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ทั้งป้ายบอกทางที่ยังไม่มีความชัดเจน หรือการประชาสัมพันธ์ที่ยังไม่ทั่วถึง ซึ่งในอนาคตจะสร้างความลำบากให้กับประชาชนที่มาจากต่างจังหวัด เช่น ปกติที่จะขึ้นรถไฟที่สถานีหัวลำโพง แต่ขณะนี้ต้องเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟที่สถานีกลางบางซื่อทั้งหมด

หรือการที่ รมว.คมนาคมตอบกระทู้ในวุฒิสภาไปแล้วว่าจะมีการใช้รถบัสระหว่างสถานี (Shuttle Bus) เพื่อรับส่งประชาชน แต่คาดว่าจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและยังบีบบังคับให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เช่น การที่ต้องต่อรถเข้าออกสถานี หรือการนั่งแท็กซี่ เป็นต้น

อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า หากจำเป็นต้องใช้สถานีกลางบางซื่อเดินรถควรต้องสร้างทางเลือกให้กับคนที่จะเดินทางมาหัวลำโพงด้วย ไม่ใช่การสั่งยุติการเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพงทั้งหมด เพราะเป็นการผลักภาระให้ประชาชนผู้ใช้บริการ แต่ควรต้องมีรถทางไกลมาเข้าออกที่หัวลำโพงเป็นบางขบวนด้วย

“ในปัจจุบันหากรถไฟยังเข้ามาจอดที่สถานีหัวลำโพงได้ จะสะดวกกับคนที่ต้องเดินทางด้วยรถไฟเข้ามาใจกลางกรุงเทพฯ เช่น การนั่งรถไฟเพื่อมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จะสามารถลงที่สถานีที่ใกล้กับโรงพยาบาลได้ แต่หากเปลี่ยนไปใช้ที่สถานีกลางบางซื่อเพียงสถานีเดียว จะทำให้คนเหล่านี้ลำบากมากยิ่งขึ้น เพราะจะต้องต่อรถเพื่อมายังโรงพยาบาลอีก” รสนา กล่าว

ดังนั้น สหภาพฯ รฟท. และองค์กรเครือข่าย รวมถึงสภาองค์กรของผู้บริโภค เห็นว่า หากดำเนินการด้วยความเร่งรีบ ขาดความพร้อม และไม่มีมาตรการรองรับที่ดี อาจส่งผลกระทบในการใช้บริการของผู้โดยสาร อีกทั้งจะไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของกิจการรถไฟฯ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม จึงขอเสนอทางแก้ปัญหา ดังนี้

  1. ขอให้สั่งการตรวจสอบ และทบทวนกำหนดการเปิดสถานีกลางบางซื่อ และแผนการปรับย้ายขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ (รถไฟทางไกล) จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ย้ายมาสถานีกลางบางซื่อ ที่จะดำเนินการในวันที่ 19 มกราคม 2566 โดยเร่งด่วน
  2. ในระหว่างการตรวจสอบ สำหรับขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ ขอให้ยังคงสถานีต้นทาง – ปลายทางอยู่ที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไว้ก่อน
  3. ขอให้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นโดยเร่งด่วน ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงจากผู้บริโภค และประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่ใช้บริการ ตามนโยบายของกระทรวง และข้อเสนอแนะของสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศอย่างยั่งยืน

ด้านสราวุธ สราญวงศ์ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การไม่มีขบวนรถไฟทางไกลเข้าสถานีหัวลำโพง จะทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนเป็นวงกว้างและหนีไม่พ้นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนโดยไม่มีทางเลือก อาทิ การไม่ได้รับความสะดวกและต้องเสียเวลาเพิ่มในการเดินทาง มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น นอกจากนั้นแล้วพื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อยังไม่มีความพร้อมในการให้บริการกับผู้โดยสาร เช่น การให้ผู้โดยสารต้องเปลี่ยนการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดงเพื่อใช้เดินทางระหว่างสถานีรังสิต – สถานีกลางบางซื่อ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะต้องขนของ แบกสัมภาระที่ได้นำมาจากต่างจังหวัด แล้วเปลี่ยนแปลงขบวนรถเพื่อไปให้ถึงปลายทาง

“ระบบการเชื่อมต่อ (Feeder) ที่รองรับการเดินทางของผู้โดยสารที่มาใช้บริการนั้น แม้ว่าการรถไฟฯ จะประสานงานกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถมารับ – ส่งผู้โดยสารแล้วก็ตาม จึงเกิดคำถามว่าปริมาณผู้โดยสารกับจำนวนรถที่จัดมารับ – ส่ง จะเพียงพอหรือไม่ และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมานั้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ” สราวุธ กล่าว

ขณะที่สุขสมรวย เลขานุการ รมว.คมนาคม ยืนยันว่า ไม่สามารถหยุดการย้ายขบวนรถไฟทางไกล 52 ขบวนไปที่สถานีกลางบางซื่อได้ในวันที่ 19 มกราคม 2566 เนื่องจากได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งมีการขายตั๋วโดยสารและมีการประชาสัมพันธ์ออกไปแล้ว

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค