กว่าจะเป็น ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’

กว่าจะเป็น ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ (Thailand Consumers Council) พวกเราผ่านอะไรกันมาบ้าง ?

ขอเชิญชวนเพื่อนผู้บริโภคทุกคนไปรู้จักเรา ผ่านเส้นทางสู่สภาองค์กรของผู้บริโภค

| การต่อสู้ของผู้บริโภคเพื่อให้มีตัวแทนระดับประเทศ |

หากพูดถึงหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย หลายคนอาจจะนึกถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่เป็นหน่วยงานกลางในการดูแลเรื่องฉลาก โฆษณา สัญญาทั่วไป หรือหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะเรื่อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดูแลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น กรมการค้าภายใน ที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ หรือแม้แต่ตัวแทนภาคธุรกิจเอกชน อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่คอยเป็นปากเสียงรักษาประโยชน์ให้กับผู้ประกอบธุรกิจ กลับกันนั้นในฝั่งของผู้บริโภคยังไม่มีตัวแทนระดับประเทศที่เป็นทางการแม้แต่องค์กรเดียว…

จึงทำให้เกิดแนวคิด ‘องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค’ ถือกำเนิดและก่อร่างสร้างตัวขึ้นในยุครัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 57 โดยมีอำนาจในการให้ข้อคิดเห็นในการออกกฎหมายและมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นของผู้บริโภคเอง อีกทั้งไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่ในเฉพาะหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคหรือพูดให้ชัด คือ ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมที่สำคัญ 😀

แนวคิดดังกล่าวถูกผลักดันโดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จนทำให้รัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติเรื่องการรับรองสิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคด้วย ไว้ในมาตรา 61 ว่า ผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริงและมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย ระหว่างนั้น ภาคประชาชนรวบรวมรายชื่อประชาชน 13,000 คนเสนอร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองเสียก่อน จึงทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องหยุดชะงักไป ทั้งที่ผ่านกรรมาธิการร่วมของ 2 สภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จากนั้น ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ในเนื้อหานั้นกำหนดแนวคิดเกี่ยวกับองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในมาตรา 46 ด้วย ซึ่งรับรองสิทธิผู้บริโภค การรวมตัวของผู้บริโภคเป็นองค์กรผู้บริโภค และการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภคให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ เพื่อทำให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ สคบ. จัดทำร่างกฎหมายตามมาตราดังกล่าว

ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ปี 2560 สคบ. นำความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ กลับมาปรับแก้ไขจนเป็นร่างกฎหมาย และในวันที่ 5 มิถุนายน 2561 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎหมาย ‘สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ’ ตามที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเสนอ คือ ต้องการให้มีสภาเดียวและเป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่เป็นทางการ จากนั้นจึงส่งร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจแก้ อีกทั้งได้ตั้งคณะพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณาร่างดังกล่าวโดยเฉพาะ และเชิญตัวแทนผู้บริโภคเข้าไปร่วมให้ความเห็น

คณะพิเศษฯ นี้ตรวจแก้ร่างกฎหมาย เปลี่ยนเนื้อหา รวมถึงเปลี่ยนชื่อกฎหมายฉบับนี้ไปเป็น ‘พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ….’ หลังจากปรับแก้จากหลายภาคส่วนและตัวแทนผู้บริโภค ในที่สุดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบให้ออก พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. … ทำให้กฎหมายดังกล่าวเผยแพร่ลงบนเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา

หลังจากรวบรวมสมาชิกองค์กรของผู้บริโภคได้ 152 องค์กร จึงรวมตัวยื่นเป็นคณะผู้เริ่มก่อการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษาลงประกาศนายทะเบียนกลาง เรื่อง การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นคณะรัฐมนตรีเห็นชอบและจัดสรรงบประมาณ 350 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนประเดิมเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม