ผู้เสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ อย่าเพิ่งเซ็นรับเงินเยียวยา ถ้ายังไม่ได้ทำตาม 4 ข้อนี้

เมื่อได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ มักจะมีผู้อ้างว่าเป็นตัวแทนผู้ประกอบการ (เจ้าของรถ) หรือตัวแทนบริษัทประกันภัย ติดต่อ เพื่อเจรจาจ่ายเงินเยียวยาค่าเสียหาย ซึ่งหากผู้เสียหายตอบรับและลงชื่อโดยไม่อ่านเอกสารอย่างละเอียด ก็อาจทำให้เสียโอกาสในการได้รับเงินเยียวยาในจำนวนที่ควรได้ และไม่สามารถฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายอื่น ๆ ได้ สภาผู้บริโภคจึงชวนทุกคนมาอ่าน 4 ข้อที่ควรทำ ก่อนเซ็นรับเงินเยียวยาเบื้องต้น

  1. ก่อนเซ็นเอกสารรับเงินค่าสินไหมทดแทน ต้องอ่านข้อความในเอกสารให้ละเอียด เพราะอาจมีข้อความตัดสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอื่นเพิ่มเติมได้
  2. ผู้เสียหาย ห้ามลงชื่อยินยอมในเอกสารระบุว่า “ผู้รับสัญญาตกลงไม่เรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อผู้ให้สัญญาและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกต่อไป” เด็ดขาด
  3. หากจำเป็นต้องเซ็น ผู้เสียหายต้องแจ้งขอขีดข้อความดังกล่าวออกแล้วลงชื่อกำกับไว้ เพื่อปกป้องสิทธิในการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นได้อีกด้วย
  4. กรณีบริษัทประกันภัยจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน ต้องไม่ตัดสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการรถโดยสาร หากมีค่าเสียหายเกินกว่าจำนวนเงินความคุ้มครองของประกันภัย

หากคู่กรณีไม่ยินยอม ควรทำอย่างไร

  1. ยุติการเจรจาไกล่เกลี่ย
  2. รวบรวมพยานหลักฐานและจำนวนค่าเสียหายที่ต้องการเรียกร้องใหม่อีกครั้ง
  3. ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551

หากผู้บริโภคพบเจอปัญหา สามารถปรึกษา – ร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค ได้ที่

  • ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
  • อีเมล : [email protected]  
  • โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
  • อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) ​: สภาองค์กรของผู้บริโภค