ตักบาตรอย่างไร ให้ (พระสงฆ์) ห่างไกลโรค

สภาผู้บริโภคอยากชวนทุกคนมาดูวิธีการ ‘ตักบาตรอย่างไร ให้ (พระสงฆ์) ห่างไกลโรค’

เพราะอาหารที่เรานิยมซื้อเพื่อถวายแด่พระสงฆ์ มักเป็นอาหารที่อยู่ในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่าย เช่น มาม่า ปลากระป๋อง น้ำผลไม้กล่อง บางอย่างมีปริมาณโซเดียม น้ำตาล และไขมันสูง อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้พระสงฆ์อาพาธได้

ดังนั้น ก่อนจะเลือกซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำผลไม้ หรืออาหารที่อยู่ในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่ายอื่น ๆ ต้องดูปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ที่ระบุไว้บนฉลาก หวาน มัน เค็ม (GDA) ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ (วิธีนี้สามารถใช้กับการเลือกของไปบริจาคหรือซื้อเพื่อเก็บไว้กินที่บ้านได้ด้วย)

สำหรับปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมที่คนทั่ว ๆ ไปควรได้รับ มีดังนี้

  • จำนวนพลังงานที่ต้องการใช้ใน 1 วัน ผู้ชาย = ประมาณ 1,800 – 2,000 Kcal ส่วนผู้หญิง = ประมาณ 1,500 – 1,800 Kcal
  • น้ำตาล ควรบริโภคไม่เกินวันละ 24 กรัมหรือ 6 ช้อนชา
  • ไขมัน ควรบริโภคไม่เกินวันละ 24 กรัมหรือ 6 ช้อนชา
  • เกลือ ควรได้รับไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา 5 กรัม หรือปริมาณโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ วันหมดอายุก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องสังเกตก่อนจะซื้อ โดยอาหารที่เราจะนำไปใส่บาตรต้องเก็บได้นาน 3 เดือนเป็นอย่างน้อย หรือถ้าจะให้ดีควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บได้นานกว่า 6 เดือน หรือสังเกตสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) เพื่อเป็นตัวช่วยสำคัญให้เราเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสารอาหารเหมาะสม ลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้กับพระสงฆ์ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจสังเกตว่า ฉลาก GDA ที่อยู่ในภาพอินโฟกราฟิกจะมีสีไม่เหมือนกับที่เราเห็นทั่วไป นั่นเป็นเพราะการแสดงฉลากแบบนี้เรียกว่า ‘ฉลากสีสัญญาณไฟจราจร’ ซึ่งเป็นสิ่งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาผู้บริโภค รวมถึงองค์กรผู้บริโภคได้ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถอ่านฉลากได้ง่าย ๆ จากสีว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมเกินมาตรฐานหรือไม่

🟢 สีเขียว หมายถึง มีปริมาณสารอาหารอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด
🟡 สีเหลือง หมายถึง มีปริมาณสารอาหารสูงปานกลาง
🔴 สีแดง หมายถึง มีปริมาณสารอาหารสูงเกินกว่า 2 เท่าของเกณฑ์ที่ทำหนด (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจรเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์ https://bit.ly/3BAUaMI)

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค