ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ประจำเดือนมิถุนายน 2566

จากกรณีที่กระทรวงพาณิชย์มีแนวโน้มที่จะใช้ผลการรับฟังความคิดเห็นของกรมวิชาการเกษตรเพื่อสนับสนุนการเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP และ/หรือ รับเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 นั้น

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค ครั้งที่ 5/2566 ที่มี ภก.ภาณุโชติ ทองยัง กรรมการนโยบายและประธานอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค เป็นประธานที่ประชุม ได้มีมติให้สภาผู้บริโภคมีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

เพื่อขอคัดค้านการใช้ผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเพื่อสนับสนุนการเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP และ/หรือ รับเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 เนื่องจากปัญหาความไม่เป็นกลางของการออกแบบในการสำรวจความคิดเห็น ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนหนึ่งปฏิเสธการเข้าร่วม เพราะเห็นแนวโน้มที่ไม่เป็นกลางของกระบวนการสำรวจความคิดเห็นในครั้งแรก

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการยังได้ติดตามการดำเนินการจัดเวทีพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายเพื่อการสื่อสารทำความเข้าใจกับเครือข่ายในส่วนผลกระทบ CPTPP และ FTA อื่นๆ รวมไปถึง UPOV1991 ต่อผู้บริโภคและเกษตรกร ซึ่งมีรูปแบบการจัดทั้งแบบออนไลน์และแบบออนไซต์ โดยเวทีออนไลน์ จะจัดในวันที่ 22 มิถุนายน 2566 เวลา 09.30 – 2.00 น. และเวทีออนไซต์ จะจัดในวันที่ 26 มิถุนายน 2566 สถานที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 50 คน

สำหรับประเด็นการติดตามแผนการผลักดันการจัดระบบการเฝ้าระวัง Pre-Post Marketing ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่เข้าถึงการคุ้มครองผู้บริโภค มีการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพถูกยกเลิกเลขสารบบ และการโฆษณาเกินจริง ที่ประชุมอนุกรรมการฯ ได้รับทราบว่า

เมื่อวันอังคารที่ 30 พฤษภาคม 2566 เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จำนวน 12 องค์กร ได้เข้าร่วมอบรมปฏิบัติการเฝ้าระวังและการจัดการการโฆษณาสุขภาพเกินจริงของผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยมีทั้งการเรียนรู้แบบออนไลน์ด้วยคลิปวีดีโอการสอนด้านกฎหมาย และการเฝ้าระวังการเก็บหลักฐานประกอบการร้องเรียน รวมถึงมีการวางแผนการดำเนินร่วมกันเพื่อเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผิดกฎหมายอีกด้วย

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค