เบาะเสริม – บรรทุกเกิน ปัญหาเรื้อรังรถตู้โดยสารกว่า 20 ปี แนะขนส่งเร่งเปลี่ยนเป็นมินิบัส เข้มงวงเรื่องความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ

เจอผู้โดยสารรถมินิบัสยังต้องนั่งเก้าอี้เสริมพลาสติก สภาผู้บริโภค แนะกรมการขนส่งทางบก  เร่งกำกับความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ หนุนเสริมผู้ประกอบการเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นรถมินิบัสเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

จากกรณีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 มีผู้บริโภครายหนึ่ง จองตั๋วรถมินิบัสโดยสารนครศรีธรรมราช – ทุ่งสงล่วงหน้า แต่เมื่อขึ้นไปบนรถกลับพบว่ามีผู้โดยสารเต็มทุกที่ ตนเองต้องนั่งเก้าอี้เสริม ซึ่งเป็นเก้าอี้พลาสติกทั่วไป สร้างความไม่พอใจให้กับผู้บริโภครายดังกล่าว นั้น (อ่านข่าวได้ที่ : สาวสุดเซ็ง รถตู้ที่นั่งไม่พอได้เก้าอี้เสริมแทน โอดสภาพเก้าอี้ เสียความรู้สึกมาก)

วันนี้ (4 มิถุนายน 2566) คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การให้ผู้โดยสารนั่งเก้าอี้เสริม หรือยืน ในรถตู้โดยสาร รถมินิบัส หรือรถทัวร์นั้น นอกจากผิดกฏหมายอย่างชัดเจนแล้ว ยังเป็นการละเมิดสิทธิผู้โดยสารในด้านความปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยให้ผู้โดยสารอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย สร้างความเครียดตลอดการเดินทาง เนื่องจากเก้าอี้เสริมเป็นเก้าอี้ที่ไม่ได้ยึดติดกับตัวรถ ไม่มีเข็ดขัดนิรภัย หากมีอุบัติเหตุผู้โดยสารเก้าอี้เสริมจะมีความเสี่ยงต่อชีวิตสูงสุด หรือแม้ไม่มีอุบัติเหตุแต่หากรถตู้ต้องเบรกกระทันหันก็สามารถทำให้ผู้โดยสารบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องเบาะเสริม หรือบรรทุกเกินเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานกว่า 20 ปี

คงศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ทุกวันนี้ความเข้มงวดในการกำกับมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะมีน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิดที่หากพบว่ามีการกระทำความผิดซ้ำซากหรือเจตนาละเมิดสิทธิของผู้โดยสารจะถูกดำเนินการขั้นสูงสุดต่อผู้ประกอบการขนส่งและผู้ขับรถโดยสารสาธารณะโดยทันที ขณะที่ความรุนแรงของอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะเริ่มส่งสัญญาณเพิ่มมากขึ้นจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา สะท้อนถึงปัญหาการกำกับความปลอดภัยและคุณภาพบริการของรถโดยสารสาธารณะที่เป็นความเสี่ยงของผู้บริโภคที่ใช้บริการ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ระบุว่ามีรถตู้โดยสารประจำทางจดทะเบียนสะสมอยู่ทั้งหมด 8,859 คัน แต่ปัญหาสำคัญคือภาครัฐยังไม่ได้ให้ข้อมูลกับผู้บริโภคว่าการเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นรถมินิบัส ตามมติคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 นั้นมีความคืบหน้าอย่างไร โดยเฉพาะข้อมูลว่าปัจจุบันมีรถตู้โดยสารประจำทางจำนวนเท่าไหร่ที่ต้องเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส และการเปลี่ยนผ่านจะสิ้นสุดครบกำหนดในปีใด เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในการเลือกใช้บริการการเดินทางของผู้บริโภค ทั้งนี้ สภาผู้บริโภค โดยคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะจะติดตามมาตรการเปลี่ยนผ่านรถตู้โดยสารเป็นรถมินิบัสจากคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางและกรมการขนส่งทางบก เพื่อการสนับสนุนและยกระดับคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้บริการรรถโดยสารสาธารณะของผู้บริโภคต่อไป

สำหรับกรณีที่มีผู้ประกอบการให้ผู้โดยสารนั่งเก้าอี้เสริมเมื่อรถเต็ม เป็นปัญหาเรื่องการบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ผู้ประกอบรถตู้โดยสารรายนี้มีความผิดโดยเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งมีกำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 107 ประกอบมาตรา 127 กำหนดโทษของการบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค