ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านการเงินและการธนาคาร ประจำเดือนพฤษภาคม 2566

การประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงิน การธนาคาร สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 5/2566 ซึ่งมีนายกมล กมลตระกูล กรรมการนโยบาย และประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาเรื่องที่ ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สำนักงานสภาผู้บริโภค ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ไปเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 เพื่อขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิผู้บริโภค และมีมาตรการกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคต่อกรณีธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยใช้โฉนดที่ดินเป็นประกันของกลุ่มบริษัท ศรีสวัสดิ์คอเปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน)

ซึ่งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 สคบ. ได้มีหนังสือตอบกลับสภาผู้บริโภค ว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างชี้แจงข้อเท็จจริงและตรวจสอบสัญญากู้ยืมเงิน หลังจากนั้นสภาผู้บริโภคได้มีหนังสือสอบถามความคืบหน้ากับ สคบ. ไปอีก 4 ครั้ง แต่สภาผู้บริโภคไม่ได้รับการตอบกลับจาก สคบ. แต่อย่างใด

คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเรื่องนี้แล้วมีความเห็นว่า ควรจัดทำรายงานการกระทำและละเลยการกระทำในกรณีนี้ต่อ สคบ. ต่อนายกรัฐมนตรี และเผยแพร่ต่อสาธารณะ และจากการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักงานสภาผู้บริโภคและหน่วยงานประจำจังหวัด จังหวัดพะเยาได้มีข้อเสนอนโยบาย เรื่อง สัญญาขายฝาก ซึ่งเป็นสัญญาเงินกู้ เห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ สคบ. ที่จะควบคุมดูแลสัญญาที่เป็นธรรม

ที่ประชุมอนุกรรมการได้เสนอให้จัดทำหรือผลักดันกฎหมายควบคุมสัญญาให้เป็นธรรม อาจจะเสนอเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โดยมีบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งปัจจุบันมีพระราชบัญญัติข้อสัญญาไม่เป็นธรรมอยู่แล้ว แต่จะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อผู้บริโภคยกเป็นข้อต่อสู้ในการฟ้องร้องดำเนินคดี จึงควรผลักดันการแก้ไขกฎหมายให้ สคบ. มีอำนาจพิจารณาแก้ไขสัญญาไม่ต้องให้ผู้บริโภคต้องฟ้องคดีต่อศาล โดยทบทวนกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันว่า สามารถจัดทำประกาศให้อำนาจคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ให้มีอำนาจได้หรือไม่ หรือจะให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่รักษาการณ์ตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาที่เป็นธรรม

จากความเห็นดังกล่าว คณะอนุกรรมการจึงมีมติเห็นชอบให้สำนักงานสภาผู้บริโภค ทำหนังสือขอเข้าพบประธานคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อประชุมกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านสัญญาในภาพรวมต่อไป

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค