เสนอรัฐจัดตั้งศูนย์ไซเบอร์ แก้ปัญหามิจฉาชีพออนไลน์

สภาผู้บริโภค แนะรัฐ ต้องมีแผนป้องกันมิจฉาชีพ “ฉวย” ใช้นโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ล่อโหลดแอป-กดลิงก์ รัฐบาลชุดใหม่ ควรกำหนดให้ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ เรื่องเป็นวาระแห่งชาติและภาระกิจแรกของรัฐบาล

ทันทีที่นายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย  ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพียงชั่วข้ามคืน ปรากฏว่า มีแอปพลิเคชันหลอกลวงให้ลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของพรรคเพื่อไทย ถูกต่อกระจายไปยังประชาชน เพื่อให้ร่วมดาวน์โหลดแอปพลิเคชันลงทะเบียนกันแล้ว

วันนี้ (24 สิงหาคม 2566) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค  เห็นว่า  ลิงก์ให้โหลดดังกล่าว เป็นหนึ่งในแผนกลลวง ที่มิจฉาชีพนำไปใช้ ได้อย่างรวดเร็ว ในจังหวะเวลาที่ง่ายต่อการจูงใจและง่ายต่อการล่อลวงเหยื่อได้ง่าย อีกทั้งยังเห็นว่า มิจฉาชีพ มีความพร้อมกว่ารัฐบาล และพร้อมที่จะพลิกแพลงรูปแบบออกมาพร้อมกับนโยบายรัฐต่ออีกอย่างแน่นอน

ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภค จึงอยากเสนอให้รัฐผลักดัน แผนการป้องกันมิจฉาชีพไปพร้อม ๆ กัน กับการประกาศนโยบาย และจัดตั้งศูนย์ไซเบอร์รัฐด้วยกลไกรัฐ ตามที่เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ ด้วยต้องคัดบุคลากรฝีมือดี มีความสามารถ มาทำงานเพื่อจัดกากลุ่มมิจฉาชีพ หรืออาจจ้างคนร้ายมาจับคนร้ายเพื่อให้ตามมิจฉาชีพได้ทัน

อีกทั้ง ปัญหานี้ ยังเป็นความท้าทายต่อการรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศ ซึ่งตาม พรบ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 2562  ที่ออกมาและมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ก็ควรใช้เพื่อการดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนให้มากขึ้นกว่านี้ ไม่เน้นดูแลเฉพาะแต่งานด้านความมั่นคงของหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว  โดยเฉพาะ รัฐบาลชุดใหม่ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ ควรกำหนดให้ภัยจากโลกไซเบอร์ เป็นวาระแห่งชาติโดยเร่งด่วน เป็นภาระกิจลำดับแรกของรัฐบาล

ซึ่งการผลัดดันศูนย์ไซเบอร์ ที่มีงบประมาณและร่วมกันทำงานจะช่วยให้รับมือกับการก่อเหตุอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของมิจฉาชีพได้ เนื่องจากปัจจุบันตำรวจไซเบอร์ มีบุคลากรน้อยมาก ขณะที่คดีทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นมากได้ทัน และมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย