ผู้ว่าฯ กทม. พบสภาองค์กรของผู้บริโภค หารือราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว

ผู้ว่าฯ กทม. พบสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร หารือเคาะราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว 59 บาท

จากการที่เมื่อวาน (28 มิถุนายน 2565) สอบ.แถลงข่าวคัดค้านการที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายไม่เกิน 59 บาท โดย สอบ.เสนอให้พิจารณาราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ในราคา 44 บาทก่อนหมดสัมปทานปี 2572 พร้อมระบุว่า สามารถทำค่าโดยสารในราคา 25 บาท ตลอดสายหลังจากหมดอายุสัมปทานได้ ซึ่งเห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสม ที่ประชาชนทุกคนใช้รถไฟฟ้าได้ทุกวันนั้น

29 มิถุนายน 2565 ชัชชาติ เดินทางมาเพื่อหารือและร่วมแถลงข่าวกับ สอบ.ในประเด็นเรื่องราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ.ระบุว่า รถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งมวลชนอันเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน รัฐจึงควรมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้อย่างทั่วถึง ปลอดภัย แต่จากปัญหาการบริหารจัดการของรัฐที่ผ่านมา ทำให้ค่าบริการรถไฟฟ้ามีราคาแพงเกินกว่าร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำ โดยคิดเป็นร้อยละ 28 ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงบริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน จึงมีคนใช้บริการเพียงร้อยละ 2.86 เท่านั้น ทั้งนี้ มองว่ารัฐบาลและ กทม. มีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้เพิ่มขึ้นอย่างปลอดภัย ทุกคนสามารถจ่ายค่าโดยสารได้อย่างเท่าเทียม เหมาะสม เป็นธรรม

“นอกจากนี้ มีประเด็นเรื่องสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเดิมจะหมดในปี 2572 แต่มีการจ้างเดินรถเกินเลยสัญญาสัมปทานหลักไปถึงปี 2585 ขอให้ผู้ว่าฯ หาทางแก้ปัญหาส่วนนี้ด้วย” สารีกล่าว

ทั้งนี้ สอบ.มีข้อเสนอสำคัญต่อการแก้ปัญหาการกำหนดอัตราค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 6 ข้อ ดังต่อไปนี้ 

1) ยุติแผนระยะสั้นในการเก็บค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดไม่เกิน 59 บาทโดยทันที

2) เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดร่างสัญญาสัมปทานที่กำหนดค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุด 65 บาท และสัญญาจ้างเดินรถที่เกินเลยสัญญาสัมปทานถึงปี 2585 และแก้ไขสัญญาจ้างเดินรถให้สิ้นสุดพร้อมกันในปี 2572

3) กำหนดค่าบริการในอัตราสูงสุดใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าทุกสายทุกระบบที่ 44 บาท ตามสิทธิสัญญาสัมปทานของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

4) กำหนดสัดส่วนของค่าบริการขนส่งมวลชนต่อรายได้ขั้นต่ำของประชาชนต่อวันต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มเข้าถึง และใช้บริการได้

5) ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครต้องเป็นผู้นำการเจรจาร่วมกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในการนำโปรโมชันเที่ยวเดินทาง 30 วันกลับมาดังเดิม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้บริโภค และส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถึงระบบบริการรถไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น

6) สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้แทน สอบ.ในฐานะตัวแทนผู้บริโภคตามกฎหมายร่วมเป็นคณะกรรมการ หรือคณะทำงานด้านขนส่งและยานพาหนะของหน่วยงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ชัชชาติ ระบุว่า กทม. จะนำข้อเสนอของ สอบ.ไปพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว เรื่องตั๋วรายเดือน รวมถึงการเปิดสัญญาสัมปทาน และจะนำข้อมูลกลับมาหารือ สอบ.อีกครั้ง

“เรื่องการเปิดเผยสัญญาสัมปทาน และสัญญาการจ้างเดินรถปี 2572 – 2585 นั้น ในสัญญามีข้อกำหนดเรื่องห้ามเปิดเผยสัญญานี้ ก็ต้องไปดูว่า กทม. มีอำนาจจะเปิดเผยสัญญาดังกล่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กทม. ได้สัญญามาแล้ว ต้องมาดูให้เกิดความโปร่งใส และจะแก้ไขสัญญาให้สิ้นสุดปี 2572 พร้อมกับสัญญาสัมปทาน” ชัชชาติระบุ

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค