ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านสินค้าฯ กรกฎาคม 2566

สภาผู้บริโภค จี้กรมการขนส่งทางบกเข้มมาตรการเรียกคืนถุงลมอันตรายยี่ห้อทาคาตะ ไม่เปลี่ยนถุงลมอันตราย ตรวจสภาพรถไม่ผ่าน ต่อภาษี และใช้รถไม่ได้

จากการที่สภาผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายจากการทำงานผิดปกติของถุงลมนิรภัย ยี่ห้อทาคาตะ (Takata) ในรถยนต์ที่ผลิตและจำหน่ายในระหว่างปี พ.ศ. 2541 ถึงปี พ.ศ. 2561 ซึ่งมีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และได้รณรงค์เรียกร้องให้เพิ่มระดับมาตรการการเรียกรถมาเปลี่ยนถุงลมนิรภัยให้เข้มข้นขึ้น

ต่อมากรมการขนส่งทางบก สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และบริษัทรถยนต์ ได้ออกแถลงข่าวในช่วงต้นปี 2566 ว่าได้ร่วมกันจัดทำและเปิดใช้งาน “ระบบแจ้งเตือนถุงลมนิรภัย” ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2566 เพื่อแจ้งเตือนให้นำรถไปเปลี่ยนถุงลมนิรภัยอันตรายเมื่อมีการดำเนินการทางทะเบียนและภาษีรถ ทั้งที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศและระบบชำระภาษีรถประจำปีออนไลน์ (DLT E-Service) ซึ่งกรมการขนส่งทางบกให้ข้อมูลว่า ภายหลังจากเปิดใช้งานระบบมาเป็นระยะเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม-22 กุมภาพันธ์ 2566 มีการแจ้งเตือนแล้ว 50,420 คัน แต่มีการนำรถเข้าแก้ไขถุงลมนิรภัยเพียงจำนวน 6,646 คัน เท่านั้น

สภาผู้บริโภค เห็นว่ามาตรการการแจ้งเตือนดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ยอดรถอันตรายอีกกว่า 6 แสนคันจะลดลงได้ในอัตราที่เร็วกว่านี้ คณะอนุกรรมการด้านสินค้าฯ จึงได้ส่งหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบกขอให้เพิ่มระดับความเข้มข้นของมาตรการการเรียกรถมาเปลี่ยนถุงลมนิรภัย โดยให้ออกมาตรการรถที่อยู่ในข่ายต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัย แต่หากไม่มีหลักฐานการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยมาแสดงในการตรวจสภาพรถเพื่อต่อภาษีจะไม่สามารถตรวจสภาพรถผ่านและต่อภาษีรถได้

รวมทั้งการขอให้กรมการขนส่งทางบกขยายผลการแจ้งเตือนภัย และออกเอกสารรับรองการเปลี่ยนโดยบริษัทรถยนต์ให้กับเจ้าของรถยนต์ที่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแล้ว สามารถนำไปยื่นเป็นเอกสารหลักฐานต่อสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ได้

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค