สายสีเขียวสูงสุดต้องไม่เกิน 47 บาท หลังกทม.เคาะ ต่อขยาย 15 บาท

สภาผู้บริโภค ย้ำจุดยืน ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดต้องไม่เกิน 47 บาทตลอดสายตามที่กำหนดไว้ในสัมปทาน หลังกทม. มีมติเก็บค่าโดยสารบีทีเอสส่วนต่อขยาย 15 บาท

จากกรณีเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 รถไฟฟ้าบีทีเอส ประกาศ การกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บโดยกรุงเทพมหานคร ในส่วนต่อขยายสายสีเขียว เริ่มมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 2 มกราคม 2567 “ในเส้นทางที่มีการเปิดให้บริการฟรี” ทั้ง 2 เส้นทางช่วงแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ 9 สถานี และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ – คูคต 16 สถานี โดยจะเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย ทำให้อัตราค่าโดยสารของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว สูงสุดที่ 62 บาท นั้น

วันที่ (29 ธันวาคม 2566) คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ระบุว่า เห็นด้วยกับการเก็บค่าโดยสาร 15 บาท เนื่องจากเป็นข้อเสนอของสภาผู้บริโภคที่เคยเสนอต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้ใช้รถไฟฟ้าในราคาที่ถูกกว่าการคำนวณค่าโดยสารตามระยะทาง ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคยังคงจุดยืนเดิม คือการเก็บค่าโดยสารต้องไม่กระทบภาระค่าใช้จ่ายผู้บริโภค หากเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายในราคา 15 บาท ตลอดสาย เมื่อรวมเส้นทางหลักจะเก็บค่าบริการสูงสุดไม่เกิน 47 บาท ตามสิทธิที่ระบุในสัญญาสัมปทานของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคใช้บริการระบบรถไฟฟ้าได้มากขึ้น

นายคงศักดิ์ แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดให้ใช้บริการฟรีมาตั้งแต่ปี 2560 ทำให้ กทม. มีภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการและการจ้างเดินรถ หากมีการเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยาย กทม.สามารถนำรายได้ดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ค้างจ่ายได้

“สภาผู้บริโภคเห็นด้วยกันการเรียกเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยาย แต่อย่างไรก็ตามการเก็บเงินเพิ่มในส่วนนี้จะต้องไม่กระทบผู้บริโภค ค่าโดยสารสูงสุดต้องไม่เกินตัวเลขที่เคยระบุไว้ในสิทธิสัญญาสัมปทาน ซึ่ง กทม. และ บริษัทฯ ต้องหารือกันต่อไปว่ามีแนวทางเรียกเก็บค่าโดยสารอย่างไร ไม่ให้กระทบผู้บริโภคและไม่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค” คงศักดิ์ ระบุ

นอกจากนี้ การคิดค่าโดยสารควรมีให้ทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น อย่างเช่น นำบัตรโดยสารแบบเดินทาง 30 วัน กลับมาจำหน่ายเหมือนเดิม แม้ว่าการเดินทางไม่กี่สถานีบัตรโดยสารแบบเติมเงินอาจคุ้มค่ากับผู้บริโภค แต่สำหรับผู้บริโภคที่ต้องใช้รถไฟฟ้าหลายสถานีเพื่อเดินทางไปเรียนหรือทำงานทุกวัน บัตรโดยสารแบบเดินทาง 30 วัน จะตอบโจทย์มากกว่า และแม้ว่า ปัจจุบันจะมีโปรโมชั่นสะสมแต้ม เพื่อนำมาแลกเที่ยวเดินทางฟรี แต่สิทธิพิเศษดังกล่าว ใช้ได้กับบัตรแรบบิท รีวอร์ดส (Rabbit Rewards) เท่านั้น ซึ่งบัตรแรบบิทฯ อาจมีข้อจำกัดกับผู้บริโภคบางกลุ่ม จึงควรมีทางเลือกที่มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการให้กับผู้บริโภคในทุกกลุ่ม

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค