ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป ครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 ซึ่งมี ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการนโยบาย เป็นประธานในที่ประชุม ได้ปรึกษาหารือเตรียมการขอเข้าพบรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พวงเพ็ชร ชุนละเอียด เพื่อขอหารือนโยบายและแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับสภาผู้บริโภคในการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ซึ่งคณะอุนกรรมการเห็นควรให้มีการหารือใน 5 ประเด็นสำคัญ คือ

1.ให้ทบทวนการยกเว้นการขึ้นทะเบียนผู้ค้าออนไลน์ประเภทบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจขายตรงกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพราะปัจจุบันพบปัญหาผู้บริโภคได้ของไม่ตรงปก สั่งของไม่ได้ของ และทำให้ไม่สามารถติดตามผู้ขายที่หลอกลวงได้หากจดทะเบียนผู้ค้าออนไลน์ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท จะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการติดต่อและได้รับการคุ้มครองได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

2.แนวทางการออกประกาศเฉพาะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีใช้บริการขนส่งพัสดุเอกชน

3.มาตรการในการติดตามการเรียกคืนถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคาตะ (Takata) ที่ไม่ปลอดภัย ออกจากรถยนต์อีกไม่น้อยกว่า 5 แสนคัน

4.การผลักดันร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ…. เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคในกรณีสินค้าที่ซื้อมาเกิดความชำรุดบกพร่อง

5.แนวทางคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับราคาค่าบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยควรให้สถานีชาร์จต้องประกาศราคา  หรือแสดงราคาก่อน โดยไม่ต้องสมัครแอปพลิเคชั่น แล้วล็อกอิน

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการสินค้าและบริการทั่วไป สภาผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยกับการออกร่างประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง เเนวทางปฏิบัติในการพิจารณาการกระทำร่วมกันของผู้ประกอบธุรกิจอันเป็นการผูกขาด หรือลดการเเข่งขันหรือจำกัดการเเข่งขันในตลาด กรณีการกำหนดราคาเเนะนำ เนื่องจากการออกประกาศดังกล่าวจะกลายเป็นการรับรองความชอบธรรมในการกำหนดราคาแนะนำของผู้ประกอบการรายใหญ่ และก่อให้เกิดข้อยกเว้นให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าไม่รับพิจารณาข้อร้องเรียนของผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ ส่งผลให้เกิดการลดการแข่งขันทางการตลาดได้โดยมีกฎหมาย