ร่วมลงชื่อ ‘ค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว’

การรวบรวมรายชื่อนี้ จัดทำโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อเปิดให้สาธารณชนเข้าร่วมลงรายชื่อในฐานะผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อนำรายชื่อเหล่านี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ทั้งนี้ เพราะ ครม.มีอำนาจลงมติอนุมัติการเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าดังกล่าว และมีการวางแผนนำเข้าสู่วาระการประชุม ครม. หลายครั้งแล้ว

ข้อมูลเบื้องต้น : ทำไมจึงต้องค้านการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ?

  • ขาดความโปร่งใส สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวฉบับนี้เป็นการต่อสัญญาให้ล่วงหน้าถึง 7 ปี (สิ้นสุดสัญญา ปี 2572) และมีระยะเวลาการให้สัมปทานถึง 30 ปี (ปี 2572-2602) โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารไว้แล้วว่า สามารถเก็บสูงสุดได้ไม่เกิน 65 บาท แต่ กทม.ซึ่งเป็นผู้ถือสัมปทานนี้ไม่ชี้แจงต่อสาธารณะว่า การคำนวณอัตราค่าโดยสารที่ 65 บาทดังกล่าวนั้น อยู่บนฐานอะไร แม้ว่ามีการเรียกร้องขอข้อมูลอย่างต่อเนื่องจากผู้บริโภค หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหลายครั้งแล้วก็ตาม
  • ขาดเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ในสัญญาสัมปทานใหม่ปิดโอกาสในการพัฒนารถไฟฟ้าทั้งระบบ ขาดเงื่อนไขเรื่องการใช้ตั๋วร่วม และการยกเว้นค่าแรกเข้า เป็นต้น 
  • ปิดทางเลือกราคาอื่น ๆ การลงมติโดย ครม.เพื่ออนุมัติการต่อสัญญาสัมปทานจะปิดโอกาสให้มีการพิจารณาทางเลือกด้านราคาอื่น ๆ ที่จะสามารถทำให้ประชาชนทุกระดับรายได้สามารถเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าได้

สอบ. มีข้อเสนอการคำนวณอัตราค่าโดยสารในอนาคตที่น่าจะเป็นไปได้ และพบว่า หากเก็บอัตราค่าโดยสาร 25 บาท กทม.ยังมีกำไรถึง 23,200 ล้านบาท จึงยืนยันว่าราคา 25 บาททำได้จริง

  • การต่อสัญญาล่วงหน้าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เนื่องจากสัญญาฉบับปัจจุบันจะหมดลงในปี 2572 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า การต่อสัญญาล่วงหน้าสำหรับสัมปทานที่มีอายุถึง 30 ปีจึงไม่ควรทำให้เป็นวาระเร่งด่วน แต่ควรถือเป็นโอกาสที่จะเปิดให้สังคมมีส่วนร่วมพิจารณาข้อดี ข้อเสียของบริการสาธารณะที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนไปถึง 38 ปี หรือในประชากรหนึ่งรุ่น ที่ต้องมีภาระผูกพันแบกรับภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้า
  • ยกวาระนี้ให้ผู้ว่าฯ ที่จะมาจากการเลือกตั้ง เมื่อผู้บริหาร กทม. ไม่สามารถหาทางเลือกที่เหมาะสมให้กับคนกรุงเทพฯ แต่ยังยืนยันผลักดันการต่อสัมปทานล่วงหน้า ทั้ง ๆ ที่ประเด็นนี้สร้างความขัดแย้งในสังคม  ผู้บริหาร กทม.ชุดนี้จึงควรวางมือ และเปิดทางให้แก่ผู้บริหาร กทม.ชุดใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณา ว่าสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวควรเป็นรูปแบบไหนที่จะเหมาะสม และเป็นธรรมต่อประชาชนผู้เสียภาษี

ร่วมลงชื่อ 'ค้านต่อสัมปทานสายสีเขียว'

มีผู้สนับสนุนขณะนี้ 94 คน

การลงชื่อ แปลว่าคุณยอมรับ ข้อตกลงการใช้บริการ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล ของสภาองค์กรของผู้บริโภค