BTS ยกเลิกตั๋วรายเดือน

ผู้บริโภคชี้ การยกเลิกตั๋วเดือนของบีทีเอส ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้นเท่าตัว

จากกรณีการยกเลิกโปรโมชันเที่ยวเดินทาง 30 วันของรถไฟฟ้าสายสีเขียว (บีทีเอส) โดยอ้างว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารลดลงและโปรโมชันดังกล่าวไม่ตอบโจทย์การเดินทางของผู้บริโภค ขณะที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ชี้ว่าจะกระทบผู้บริโภคเป็นอย่างมาก จึงเสนอรัฐเจรจาเอกชนคุมราคาให้เหมาะสม อีกทั้งชงบอร์ดฯ BTS เปลี่ยนใจ นำ ‘ตั๋วเดือน’ กลับมาเช่นเดิม พร้อมระบุการมีโปรโมชันรายเดือนช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคลงไปได้มากนั้น

14 ตุลาคม 2564 ทีมข่าว สอบ.สัมภาษณ์ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากการยกเลิกโปรโมชันเที่ยวเดินทาง 30 วัน พบว่า การยกเลิกโปรฯ ดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน และบางรายต้องจ่ายค่าเดินทางในแต่ละวันเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกโปรโมชันเที่ยวเดินทาง 30 วัน กล่าวว่า การยกเลิกโปรโมชันดังกล่าวทำให้ตัวเองมีภาระค่าเดินทางเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ เดิมใช้โปรโมชันนี้มาโดยตลอดเพราะมองว่าคุ้มค่ากว่าตั๋วเที่ยวเดียว หากใช้โปรโมชันดังกล่าวนั้นราคาเฉลี่ยต่อเที่ยวจะอยู่ที่ประมาณ 20 กว่าบาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่พอรับได้ในระยะทางที่นั่งจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุมาทำงานที่สถานีพร้อมพงษ์ แต่หากไม่ได้ใช้โปรโมชันนี้แล้วคงจะทำให้ภาระค่าเดินทางเพิ่มขึ้นมาก เพราะค่าโดยสารจะกลับไปสู่ราคาตามระยะทางปกติ คือ เฉพาะเที่ยวไปคงมีราคา 59 บาทแล้ว หากไปกลับคงมีราคาถึง 108 บาทเลยทีเดียว นอกจากนี้ ยังทำให้เสียเวลาในการรอเติมเงินด้วย และในอนาคตสถานีบีทีเอสสถานีใหญ่ ๆ คงจะมีความวุ่นวายอย่างแน่นอน

“มันไม่โอเคมาก ๆ ถ้าเราต้องจ่ายเงิน 40 หรือ 50 กว่าบาท เพื่อมายืนอัดกันเป็นปลากระป๋อง โดยเฉพาะในช่วงเช้าหรือช่วงเย็นที่คนต้องไปทำงานหรือไปเรียนที่คนจะแน่นมาก ๆ นอกจากนี้ ในช่วงหัวค่ำ การวิ่งของบีทีเอสบางขบวนก็จะวิ่งถึงแค่สถานีหมอชิตบ้าง หรือวิ่งถึงแค่สถานี ม. เกษตร ซึ่งคนทำงานทั้งวันมันก็หนักพอแล้ว ยังต้องมาเหนื่อยกับการเดินทางอีก” วรภัทร กล่าว

วรภัทร กล่าวอีกว่า ในความเป็นจริงการใช้โปรฯ ดังกล่าวเป็นภาระของผู้ใช้บริการในเรื่องความคุ้มค่า บางเดือนผู้ใช้บริการเป็นฝ่ายขาดทุนเพราะใช้จำนวนเที่ยวไม่ครบ จึงเกิดคำถามว่าในกรณีที่เป็นภาระของผู้ใช้บริการเองนี้จะทำให้บีทีเอสขาดทุนอย่างไร จึงต้องยกเลิกโปรฯ นี้ อย่างไรก็ตาม จากการยกเลิกโปรโมชันดังกล่าวทำให้ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ท้ายที่สุดหากไม่มีหน่วยงานใด ๆ เข้ามากำกับดูแลส่วนนี้ก็อาจจะทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น จึงต้องการฝากถึง กทม. กระทรวงคมนาคม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้ามาทำหน้าที่และกำกับดูแล โดยต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุดภายใต้ความคุ้มค่า เหมาะสม และไม่สูงเกินไปกับค่าแรงขั้นต่ำต่อวันที่ได้รับ โดยที่หน่วยงานเหล่านี้ควรถือว่าบริการขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้านั้นเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งที่ประชาชนควรได้รับ

ด้าน พรชนก ปรีปาน ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกโปรโมชันเที่ยวเดินทาง 30 วัน กล่าวว่า ปกติใช้บริการโปรโมชันเที่ยวเดินทาง 30 วันของบีทีเอสตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษาจนกระทั่งทำงาน เนื่องจากที่พักอาศัยอยู่บริเวณถนนสุขุมวิท ซึ่งการจราจรค่อนข้างหนาแน่น การขึ้นรถไฟฟ้าจึงเป็นทางเลือกที่สะดวกและประหยัดเวลาที่สุด เมื่อซื้อโปรโมชันรายเดือน ค่าเดินทางก็จะอยู่ที่เที่ยวละ 20 บาทซึ่งเป็นราคาที่ยอมรับได้ แต่หากไม่มีโปรโมชันตั๋วเดือน จะต้องจ่ายค่าเดินทางเที่ยวละ 44 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นเท่าตัว เมื่อรวมกับค่าขนส่งมวลชนอื่น ๆ เท่ากับว่า ในแต่ละวัน ต้องเสียเงินเกือบ 200 บาทไปกับค่าเดินทาง

“เรามองว่า การมีหรือไม่มีตั๋วเดือนไม่น่าจะกระทบต่อบีทีเอส เพราะคนที่ทำงานที่บ้าน หรือไม่ได้เดินทางเป็นประจำ เขาก็จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้แบบเติมเงิน หรือซื้อจำนวนเที่ยวของตั๋วเดือนให้น้อยลง ในทางกลับกัน การยกเลิกตั๋วเดือนส่งผลกระทบโดยตรงกับคนที่ใช้รถไฟฟ้าเป็นประจำและยังคงต้องไปเรียนหรือไปทำงานทุกวัน ซึ่งเรามองว่าการกระทำแบบนี้เป็นการเอาเปรียบคนที่ใช้บริการ” พรชนก กล่าว

พรชนก แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า การที่บีทีเอสยกเลิกโปรโมชันเที่ยวเดินทาง 30 วัน โดยให้เหตุผลว่าโปรโมชันดังกล่าวไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้โดยสารนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะตอนที่บีทีเอสประกาศยกเลิกโปรโมชันคือช่วงที่คนเริ่มกลับมาทำงานปกติ ดังนั้น การยกเลิกในครั้งนี้จึงน่าจะส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ทั้งเด็กนักเรียน คนทำงาน และประชาชนที่ใช้รถไฟฟ้าเป็นประจำ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน สอบ.กำลังทำแบบสำรวจ ‘จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกโปรโมชันเที่ยวเดินทาง 30 วันของบีทีเอส’ เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติว่า มีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกโปรโมชันดังกล่าวมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่สอบถามความสมัครใจเข้าร่วมลงชื่อเพื่อยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามากำกับดูแลปัญหาเรื่องราคารถไฟฟ้าให้มีความเหมาะสมและมวลชนสามารถเข้าถึงได้ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการยกเลิกตั๋วเดือน สามารถรวมทำแบบสอบถามได้ที่

https://forms.gle/s8Ln8v6xcPx99XUe8

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #บีทีเอส #รถไฟฟ้า

ลงชื่อสนับสนุน

มีผู้สนับสนุนขณะนี้ 4 คน

การลงชื่อ แปลว่าคุณยอมรับ ข้อตกลงการใช้บริการ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล ของสภาองค์กรของผู้บริโภค