ตั๋วร่วมในต่างประเทศใช้ทำอะไรได้บ้าง?

สภาองค์กรของผู้บริโภค ชวนไปดูระบบ ‘ตั๋วร่วม’ ในต่างประเทศ
ว่าผู้บริโภคประเทศอื่น ทั้งฝั่งเอเชีย และฝั่งยุโรป ใช้ตั๋วร่วมทำอะไรได้บ้างนะ

เริ่มกันที่ประเทศแรกเลย คือ สิงคโปร์ มีระบบตั๋วร่วมที่ใช้บัตร EZ LINK ซึ่งผู้บริโภคในสิงคโปร์สามารถใช้บัตรใบนี้ขึ้นรถไฟฟ้า MRT รถเมล์ หรือแท็กซี่ก็ได้ และยังสามารถใช้ซื้อสินค้าตามร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ซึ่งจะได้ส่วนลดจากร้านสะดวกซื้อนั้น ๆ เมื่อจ่ายด้วยบัตร EZ LINK

มาต่อกันที่ผู้บริโภคญี่ปุ่นสามารถใช้บัตรที่ชื่อว่า SUICA ขึ้นรถไฟฟ้าได้ทุกสาย ทุกบริษัทในโตเกียว จะซื้อขนมหรือเครื่องดื่มบนรถไฟก็ยังได้ และยังสามารถใช้ซื้อของในร้านค้าที่มีป้ายติดไว้ว่ารับบัตร SUICA ได้อีกด้วย

ส่วนผู้บริโภคในเกาหลีใต้จะมีบัตรที่ชื่อว่า T-MONEY สำหรับใช้จ่ายค่าบริการขนส่งสาธารณะได้ทั้งหมด เมื่อแตะบัตรจ่ายแทนเงินสดก็จะลดค่าบริการรถเมล์และรถไฟใต้ดินลงไปได้อีก นอกจากนี้ ยังใช้ซื้อของในมินิมาร์ทได้ด้วย

OCTOPUS CARD เป็นระบบตั๋วร่วมที่ฮ่องกงนำมาใช้กับการเดินทางในระบบขนส่งมวลชนส่วนกลางทั้งหมดในประเทศ ซึ่งบัตรนี้ทำให้ผู้บริโภคฮ่องกงเดินทางเชื่อมต่อกันได้สะดวกมาก และก็ยังสามารถใช้ซื้อของในร้านสะดวกซื้อและแตะจ่ายค่าที่จอดรถได้ด้วย

ในแคนาดาจะใช้บัตรที่เรียกว่า COMPASS CARD แน่นอนว่าสามารถใช้ได้กับทุกระบบขนส่งสาธารณะ จะขึ้นรถประจำทาง รถไฟฟ้าบนดิน ใต้ดิน หรือแม้แต่เรือประจำทาง ก็ทำได้หมดภายในบัตรเดียว

และสุดท้ายคือบัตร OYSTER CARD ของอังกฤษ ก็เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ที่สามารถแตะจ่ายหากต้องการใช้รถไฟใต้ดิน ไปต่อรถไฟชานเมือง หรือแวะไปขึ้นรถไฟรางเบาก็ทำได้เช่นเดียวกัน ซึ่งรวมไปถึงรถเมล์และรถโดยสารสองชั้นด้วยนะ

ขณะที่ในไทยเอง ก็มีระบบตั๋วร่วมที่ใช้บัตรแมงมุม (MANGMOOM) เชื่อมต่อการเดินทางในระบบขนส่งมวลชนทุกสาย ทุกประเภทเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟฟ้า เรือ หรือสามารถใช้ซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อได้เหมือนกับประเทศอื่น และยังรองรับสวัสดิการแห่งรัฐ (National E-Payment) อีกด้วย

แต่บัตรแมงมุมของประเทศไทยในขณะนี้ใช้ได้เพียงแค่กับรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) แผนเดิมคือจะมีการทดลองใช้ในรถเมล์ ขสมก. (ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2562) และแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ตามลำดับ

ผู้บริโภคจะเห็นว่าแค่พกบัตรใบเดียวก็ทำให้การเดินทางสะดวกสบายได้ขนาดนี้ แต่… เมื่อไรกันที่ผู้บริโภคไทยจะได้ใช้ระบบ ‘ตั๋วร่วม’ ที่เชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนเข้าด้วยกัน เหมือนกับประเทศอื่นสักที