เจอแมลง เศษพลาสติก หนังยางในอาหาร อย่าโยนทิ้ง! ถ่ายรูป เก็บหลักฐานแล้วร้องเรียน

ในแต่ละวันที่เราซื้อของสดกลับมาปรุงที่บ้าน นั่งทานที่ร้าน หรือสั่งเดลิเวอรี่ แต่กลับปัญหาสิ่งปนเปื้อนที่เป็นซากแมลง เศษพลาสติกหนังยาง หรือของแปลกปลอมอื่น ๆ ในอาหารนั้น ต้องถ่ายรูปเก็บหลักฐานใบเสร็จรับเงิน ข้อความการสั่งซื้อหรืออื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานเพื่อร้องเรียนได้

ความไม่ปลอดภัยจากการเจอสิ่งปนเปื้อนในอาหารนั้น เราพอจะแบ่งออกได้ 3 กรณี ดังนี้

  1. กรณีอาหารที่รับประทานเข้าไปแล้วพบว่า มีสิ่งปนเปื้อนทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เช่น เศษแก้ว ก้อนกรวด ลวดเย็บกระดาษ จิ้งจก และตะกอนขาวขุ่น เป็นต้น
  2. กรณีอาหารที่ซื้อมาเปิดภาชนะออกแล้วพบว่ามีสิ่งปนเปื้อน เช่น เส้น ขนต่างๆ ขาแมลง ตัวแมลง แต่ยังไม่ได้บริโภคหรือรับประทาน
  3. กรณีอาหารที่ซื้อมาแล้วพบสิ่งปนเปื้อนในอาหารโดยไม่ได้เปิดภาชนะแต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไปซื้อวัตถุดิบที่ตลาดแล้วเจอสิ่งปนเปื้อน เช่น แมลงวัน หรือจากกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งคือการไปกินร้านชาบู หมูกระทะ แล้วเจอฝีในหมู

สิ่งที่ร้านอาหารปฏิบัติส่วนมากก็เพียงกล่าวคำขอโทษ แล้วเปลี่ยนจานหรือบางร้านให้สิทธิกินฟรีอีกครั้ง แต่ในฐานะผู้บริโภค ควรต้องทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการแก้ไขเยียวยามากกว่าคำขอโทษและอาหารหนึ่งมื้อ?

สภาผู้บริโภคมีความเห็นว่ามีความผิดที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายจาก 3 กรณีตัวอย่างข้างต้น ถือว่า ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตอาหารกระทำความผิดเข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์

นอกจากนี้ยังมีความผิด โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ที่สำคัญหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็สามารถใช้กระบวนการฟ้องร้องต่อศาลโดยใช้กฎหมายช่วยฟ้องหรือพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคพ.ศ.2551 ในการดำเนินการฟ้องได้

หากผู้บริโภคพบเจอเหตุการณ์แบบนี้ ให้ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

1. ควรเก็บตัวอย่างอาหารที่พบปัญหาไว้ในสภาพที่สมบูรณ์มากที่สุด และถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน รวมถึงเก็บข้อมูลสำคัญอื่น ๆ ไว้ ได้แก่ ชื่อสินค้า ชื่อ – ที่อยู่ผู้ผลิต วันเวลาที่ซื้อ สินค้า สถานที่ซื้อสินค้า การระบุสถานที่ซื้อสินค้าควรเจาะจงให้ชัดเจน เช่น ห้างใด สาขาใด ชื่อตลาดว่าอะไร แผงใด รวมถึงใบเสร็จ

2. หากได้รับความเสียหายจากการบริโภคอาหารนั้น ๆ ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน

3. รีบนำตัวอย่างอาหารและหลักฐานทั้งหมดแจ้งไปที่ร้านอาหารหรือแหล่งที่ซื้ออาหารมา และหากร้านไม่แก้ไขให้แจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือหากไม่มีความคืบหน้าสามารถร้องเรียนกับหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่เบอร์สายด่วน 1556 โดยต้องระบุปัญหาและความต้องการให้ชัดเจน เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอคืนเงิน หรือให้ชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นต้น

*หมายเหตุ : หลักฐานตัวจริงทั้งหมดให้เก็บไว้ที่ตนเอง ห้ามให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการโดยเด็ดขาด

แต่หากไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือแจ้งหน่วยงานกำกับดูแลให้เข้าตรวจสอบแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า สามารถร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค ตามช่องทางดังต่อไปนี้


#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค