ซื้อ ‘ตุ๊กตา’ ต้องเลือกที่ปลอดภัยมองหาเครื่องหมาย มอก. กับคิวอาร์โค้ด

ตุ๊กตาเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการซื้อเก็บหรือซื้อเป็นของขวัญ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าตุ๊กตาทำไมจึงต้องเลือกมาตรฐานมากกว่าความน่ารัก?

เหตุผลก็คือตุ๊กตาที่ไม่ได้มาตรฐานอาจทำมาจากวัสดุที่อาจติดไฟได้ง่าย หรือยัดไส้วัสดุที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ อีกทั้งผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นเด็กและหากเกิดเหตุไฟไหม้ตุ๊กตาที่เด็กใช้กอด จึงต้องไม่ติดไฟ

เลือกตุ๊กตาที่ได้มาตรฐานจะสังเกตได้ที่เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เลขที่ มอก. 685 – 2540 อยู่ตรงป้ายตุ๊กตา และนอกจากเครื่องหมาย มอก. แล้วนั้นต้องมีเครื่องหมายคิวอาร์โค้ด (QR Code) ประกบควบคู่มาด้วย

            อย่างไรก็ตาม หลายร้านที่จำหน่ายตุ๊กตาตามท้องตลาดและร้านค้าออนไลน์ ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ มักมีการจำหน่ายตุ๊กตาที่ไม่มีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถตรวจเช็กได้ และหากช่องทางการลงขายออนไลน์มีการกำหนดการลงขายสินค้าโดยระบุว่าต้องมีมอก. จากทุกร้านค้าออนไลน์ ภาพสินค้าที่ใช้ลงขายต้องมีรูปเครื่องหมายมอก. คู่กับคิวอาร์โค้ดให้เห็นอย่างชัดเจนจึงลงขายผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ได้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

สภาผู้บริโภคชวนเลือกซื้อตุ๊กตาให้ปลอดภัย สังเกตก่อนซื้อตามนี้ได้เลย

            1. ควรซื้อตุ๊กตาที่มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เลขที่ มอก. 685 – 2540 โดยสังเกตจากป้ายที่ติดมากับตุ๊กตา จะมีเครื่องหมาย มอก. ที่มีวงกลมล้อมรอบอยู่คู่กับคิวอาร์โค้ด

            2. การเลือกซื้อต้องคำนึงถึงเพศและวัยของผู้รับ

ตัวอย่างเช่น ถ้าซื้อให้เด็กควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก เด็กเล็กเป็นวัยที่ชอบนำของเล่นเข้าปาก หรือแหย่เข้าจมูก หู ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ จึงควรเลือกของเล่นที่ไม่มีขนาดเล็กกว่าอวัยวะต่าง ๆ ของเด็ก (ไม่เล็กกว่า 3 เซนติเมตร) รวมทั้งสีที่เคลือบวัสดุของเล่น ควรเป็นสีที่ปราศจากสารพิษ (Non – Toxic) ไม่หลุดลอก ไม่มีความแหลมคม และไม่แตกหักง่าย

3. ควรเป็นตุ๊กตาที่ผลิตจากวัสดุที่ปลอดภัยเป็นธรรมชาติ หรือผลิตจากวัสดุที่ไร้สารเคมีที่เป็นพิษ หรือมีฉลากสิ่งแวดล้อม เช่น ฉลาก GS (Green Seal) คือฉลากสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา ฉลากเขียว และฉลากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ

            4. ตุ๊กตาที่เลือกควรผลิตจากวัสดุที่มีคุณภาพดี คงทน และไม่ติดไฟ และควรหลีกเลี่ยงตุ๊กตาที่ยัดไส้ด้านในด้วยโฟมต่าง ๆ เพราะวัสดุชนิดนี้มีความคืนตัวที่ค่อนข้างน้อย ทำให้ตุ๊กตาของเราอาจจะยุบเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนใหญ่เนื้อผ้าที่ใช้ทำผลิตตุ๊กตาโดยทั่วไปในท้องตลาดจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ผ้าฝ้ายและผ้าสังเคราะห์ ซึ่งผ้าฝ้ายนั้นจะเป็นผ้าที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี มีสัมผัสที่อ่อนนุ่มไม่ระคายผิว เป็นเนื้อผ้าที่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบฝุ่น สำหรับเนื้อผ้าอีกประเภทคือผ้าสังเคราะห์ที่จะแตกแขนงออกได้หลากหลาย แต่ที่นิยมมักจะเป็นเส้นใยสังเคราะห์ที่มีน้ำหนักเบาอย่างผ้าสแปนเด็กซ์ (Spandex) หรือเส้นใยสังเคราะห์ที่ผ่านกระบวนการผลิตจากพลาสติก (PET) ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อมาทดแทนการใช้เส้นใยธรรมชาติ อย่างผ้าโพลีเอสเตอร์ (Polyester) หรือจำพวกผ้าขนนิ่มต่างและผ้ากำมะหยี่ นอกจากนี้ไส้ด้านในตุ๊กตามักจะผลิตด้วยวัสดุอย่างใยสังเคราะห์ หรือใยพอลิโพรไพลีน (Polypropylene) เพราะเส้นใยจำพวกนี้มีความนุ่มนิ่มและยังคืนตัวได้ดีไม่ยุบแม้จะถูกทับ หรือบีบอัด และมีน้ำหนักเบา

            5. หลีกเลี่ยงการซื้อตุ๊กตาที่มีราคาถูกเกินควรที่อาจใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิต

            6. หลีกเลี่ยงการซื้อจากช่องทางออนไลน์ หากไม่มีการรับประกันว่ามีเครื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

            7. เมื่อซื้อมาแล้วควรทำความสะอาดตุ๊กตาก่อนการใช้งาน โดยเฉพาะตุ๊กตาที่ทำจากผ้า โดยการซักตุ๊กตาและตากให้แห้งก่อนใช้

            ทั้งนี้ กรณีที่ผู้บริโภคพบสินค้าที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. คู่กับคิวอาร์โค้ด หรือพบสินค้าที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. สามารถแจ้งเบาะแส ไปที่ สมอ. ได้ที่เว็บไซต์ https://service.tisi.go.th/tisi-webboard/ และคลิกคำว่า ‘ร้องเรียน’ หรือโทรศัพท์สอบถามที่เบอร์ 02 430 6815 และเมื่อคดีสิ้นสุดแล้ว สมอ. มีรางวัลนำจับให้กับผู้แจ้งเบาะแส และผู้ประกอบการที่ไม่ปรับแก้ไขให้ถูกต้องอาจถูกพักใช้ใบอนุญาต

            นอกจากนี้ ผู้บริโภคสามารถแจ้งเบาะแสมาที่สภาผู้บริโภค ได้อีกหนึ่งทางผ่านเว็บไซต์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=warning จากนั้นสภาผู้บริโภคจะส่งต่อข้อมูลถึง สมอ. ให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป