ส่งสารถึง ‘เทเลนอร์’ ค้านควบรวมทรู – ดีแทค เหตุกระทบต่อเสรีภาพการสื่อสาร

กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร ยื่นสถานทูตนอร์เวย์ หวังสื่อสารถึงบริษัทแม่ดีแทค ชี้การควบรวมทรู – ดีแทค อาจจะกระทบต่อเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน

จากกรณีที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นคำขอควบรวมธุรกิจต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2565 อนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง ทรู – ดีแทค ส่งรายงานผลการศึกษา ผลดีและผลเสีย ของการควบรวมและไม่ควบรวมธุรกิจให้แก่บอร์ด กสทช. โดยจะลงมติชี้ขาดในที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. วันที่ 10 สิงหาคม 2565 นั้น

10 สิงหาคม 2565 กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสารเดินทางไปยังสถานทูตนอร์เวย์ เขตวัฒนา เพื่อยื่นหนังสือต่อ Kjersti Rødsmoen เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย ในประเด็นการควบรวมกิจการระหว่างทรู – ดีแทค โดยคาดหวังจะสื่อสารไปถึง บริษัท เทเลนอร์ (Telenor Group) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค

สำหรับข้อกังวลที่ทำให้ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมทรู – ดีแทค เนื่องจากมองว่า การควบรวมดังกล่าวขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ทั้งยังทำให้เหลือผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมน้อยลง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน

แถลงการณ์ของกลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร ระบุถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค โดยประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมดังกล่าว 3 ข้อ ดังนี้

1. การควบรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัทฯ ขัดต่อ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 21

โดยใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 21 บัญญัติว่า “การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคม มิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคมในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การอุดหนุนการบริการ

(2) การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน

(3) การใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม

(4) พฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน

(5) การคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย

2. การควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ทำให้เหลือผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมน้อยลง โดยเหลือผู้ให้บริการฯ หลักเพียง 2 รายเท่านั้น

จำนวนผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมน้อยลงจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทั้งในแง่การพัฒนาคุณภาพบริการ การกำหนดราคา และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและแข่งขันในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศไทยและนานาประเทศให้ความสำคัญในโลกยุคใหม่ โดยปัจจุบัน ดีแทคมีส่วนแบ่งการตลาดสำหรับสัญญาณมือถืออยู่ที่ 19.6 ล้านเลขหมาย หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของตลาดโทรคมนาคม ทรูอยู่ที่ 32.2 ล้านเลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 34 ของตลาดฯ และเอไอเอส 44.1 ล้านเลขหมาย หรือร้อยละ 46 ของตลาดฯ

จะเห็นได้ว่า หากการควบรวมเกิดขึ้นจะทำให้มีผู้ให้บริการรายใหญ่เหลือเพียง 2 ราย เพราะการควบรวมระหว่างทรู – ดีแทค จะทำให้ทั้ง 2 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดเกินกึ่งหนึ่งและสามารถชี้นำตลาดได้ ทั้งในเรื่องราคาและคุณภาพของการให้บริการ

3. การควบรวมอาจส่งผลต่อเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน ที่ต้องไม่ถูกแทรกแซงโดยบริษัทเอกชน หรือรัฐ

หากผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมมีจำนวนน้อยลง ก็จะทำให้การแทรกแซง คุกคาม จำกัด และปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการใช้เทคโนโลยีสปายแวร์ในการเข้าถึงข้อมูลในการสื่อสารของนักกิจกรรมและผู้ที่เห็นต่างจากรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทเอกชนเองก็มีความรับผิดชอบในการปกป้องสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ซึ่งในเสาหลักที่ 2 เน้นย้ำว่าบุคคลและองค์กรที่ประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดหรือขนาดใดก็ตาม ย่อมมีความรับผิดชอบที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ ทางกลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร ทราบดีว่า บริษัท เทเลนอร์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาลและสิทธิมนุษยชน ดังเช่นที่เทเลนอร์ให้ความเห็นไว้ว่า การสื่อสารโทรคมนาคมนั้นมีความสำคัญในการแลกเปลี่ยนสื่อสารความคิด และเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงสิทธิความเป็นส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม การรักษาจุดยืนในเรื่องนี้อาจเป็นไปได้ยากขึ้น หากเกิดการควบรวมกับบริษัทภายในประเทศ ที่มีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและการรักษาความเป็นส่วนตัวไม่เท่ากับมาตรฐานของ บริษัท เทเลนอร์ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ เทเลนอร์ยุติข้อเสนอควบรวมกิจการระหว่างทรู – ดีแทค ในครั้งนี้ และขอเรียกร้องรัฐบาลนอร์เวย์พิจารณาว่า ข้อเสนอควบรวมกิจการระหว่างทรู – ดีแทค ในครั้งนี้ เป็นไปตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจ
กับสิทธิมนุษยชนหรือไม่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องได้ที่

หยุดผูกขาดมือถือ ชง กสทช. แตะเบรก ดีลควบรวม ทรู – ดีแทค

กระแสสังคมกดดัน “กสทช. ต้องสู้เพื่อประชาชน” หยุดควบรวมค่ายมือถือ

พรรคการเมืองหนุนเบรกดีลควบรวม ทรู – ดีแทค

หยุดเส้นทางผูกขาดควบรวบทรู – ดีแทค กสทช. ต้องกล้าหาญ!

เสวนา ‘นโยบายสาธารณะกับปัญหาการควบรวมกิจการโทรคมนาคม’

ดีลทรู-ดีแทค กระทบผู้บริโภคทางเลือกลดลง

ทรู – ดีแทค ผูกขาดหรือไม่ ต้องรอ กสทช. ชุดใหม่ตัดสิน

ยื่นกรรมการ กสทช. พิจารณาควบรวมดีแทค – ทรู

ร้อง กสทช. กำกับดูแลกรณีควบรวม ทรู-ดีแทค เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ผู้บริโภค

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค