สภาองค์กรของผู้บริโภค จับมือหน่วยงาน สร้างกลไกเฝ้าระวัง สินค้าไม่ปลอดภัยบนแฟลตฟอร์มออนไลน์

สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสร้างกลไกเฝ้าระวังสินค้าไม่ปลอดภัย หลังพบ “กระทะปิ้งย่าง” และ”ไดร์เป่าผม” ที่ขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ได้มาตรฐาน 

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค (ANCA) จัดงานเสนาวิชาการ เรื่อง ผลการทดสอบ “กระทะปิ้งย่างและไดร์เป่าผม” ที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ถ่ายทอดสดผ่านทางเฟสบุ๊ค พร้อมร่วมกันขอความร่วมมือให้สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคเรื่องการให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งกระทะปิ้งย่างและไดร์เป่าผม เป็นสินค้าควบคุมมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ที่เป็นมาตรฐานบังคับ และเข้าข่ายเป็นสินค้าที่หากมีความชำรุดบกพร่องอาจนำไปสู่การก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการใช้งานแก่ผู้บริโภค

ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ในปัจจุบันแพลตฟอร์มการซื้อขายสินค้าออนไลน์ถือเป็นช่องทางซื้อขายสินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมาก เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทั้งยังลดความเสี่ยงในการเผชิญโรคในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งสภาพตลาดในปัจจุบันมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นจำนวนมาก ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด อย่างไรก็ตาม การซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ข้อข้อจำกัด คือ ผู้ซื้อไม่ได้เห็นหรือสัมผัสสินค้าจริง ทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงที่จะรับได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และในระยะยาวอาจเป็นการเพิ่มปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต

ดร.ไพบูลย์ แสดงความเห็นว่า การคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นเรื่องที่หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องควรจะระดมความเห็น และร่วมกันจัดทำแผนงานต่อไปในอนาคตร่วมกัน ใน 3 ประเด็นสำคัญดังนี้ 1)มาตรการทางกฎหมายสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานและเข้าข่ายเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค 2)แนวทางการจัดการจากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 3) การสร้างกลไกการเฝ้าระวังสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (post market surveillance) ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ชัยภวิศร์ ธวัชชัยนันท์ หัวหน้าโครงการทดสอบและวิเคราะห์ข้อมูลเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำหน่ายบทแพลตฟอร์มออนไลน์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ได้สุ่มตัวอย่างสินค้าที่หาซื้อบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเริ่มเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ถึง 30 มิถุนายน 2565 แบ่งการทดสอบออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) การทดสอบผลิตภัณฑ์กระทะปิ้งย่าง ใช้การทดสอบตามมาตรฐานอ้างอิง คือ มอก.1641-2552 ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับ และ 2) การทดสอบผลิตภัณฑ์ไดร์เป่าผม  ใช้การทดสอบตามมาตรฐานอ้างอิง คือ มอก.1985-2549 ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับ

ชัยภวิศร์ ระบุว่า บางหัวข้อของการทดสอบที่เป็นประเด็นสำคัญ มีผลกระทบต่อผู้บริโภคและมีความเสี่ยงต่อการใช้งาน อาจเข้าข่ายเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยหรือเป็นสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง เช่น ในระหว่างการทดสอบทั้งกระทะปิ้งย่างและไดร์เป่าผม บางยี่ห้อพบว่ามีเปลวไฟแลบออกมาในปริมาณที่เสี่ยงอันตราย เกินกว่าครึ่งของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมีคู่มือเป็นภาษาต่างประเทศ ไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทย รวมไปถึงอุปกรณ์เต้าเสียบมีรูปแบบไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก.166-2549 ซึ่งข้อกำหนดต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์และเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตที่ต้องการจำหน่ายสินค้าในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตในประเทศ หรือ ผู้นำเข้าสินค้ามาจำหน่ายในประเทศ จำเป็นต้องยื่นขอมาตรฐานดังกล่าว เพื่อให้สินค้าได้มาตรฐานตามที่กำหนด

ชัยภวิศร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ หากเป็นสินค้านำเข้าเพื่อการจำหน่ายสินค้าในประเทศไทย ก็จำเป็นต้องทีคู่มือที่แปลเป็นภาษาไทยเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ใช้งานในประเทศไทย และจำเป็นต้องมีข้อบ่งชี้เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน เช่น แรงดัน กำลังไฟ จำเป็นต้องระบุบนตัวผลิตภัณฑ์ เนื่องจากหากมีการระบุเฉพาะที่กล่องบรรจุ เมื่อกล่องถูกทำลายหรือสูญหายก็จะไม่มีรายละเอียดให้ผู้ใช้งานได้ทราบข้อมูลที่สำคัญ

โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ผู้ใช้งานหรือผู้บริโภคต้องมีความระมัดระวังในการเลือกใช้ เนื่องจากหากเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการใช้งานหรือเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จึงอยากเร่งรัดให้ออกพระราชบัญญัติความรับผิดเพี่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยหน่วยงานภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในการเข้าถึงสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่มีการผลักดันให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ โดยสภาจะมีการส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ และจะแจ้งความคืบหน้าและรายละเอียดผลทดสอบให้ผู้บริโภคทราบต่อไป