ระวัง! บัตรปชช.อยู่ติดตัวแท้ ๆ แต่โดนเอาไปเปิดซิมเป็นสิบ ๆ เบอร์ แอปฯ “3 ชั้น” ช่วยได้

จากกรณีที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้แชร์ประสบการณ์ว่าโดนสวมรอย นำบัตรประชาชนไปเปิดเบอร์มือถือไปแล้ว 34 เบอร์ ในขณะที่เบอร์ที่เจ้าตัวใช้งานจริงมีพียง 2 เบอร์ นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นร่วมแชร์ประสบการณ์ว่านอกจากถูกนำบัตรประชาชนไปเปิดเบอร์แล้ว ยังถูกเรียกเก็บค่าบริการตามมาภายหลังอีกด้วย (อ้างอิง: https://bit.ly/44qgaHH) เป็นที่น่าสงสัยว่าเบอร์เหล่านี้อาจโดนนำเอาไปใช้ในการก่ออาชญากรรมทางการเงินหรืออื่น ๆ ได้

แม้ว่าที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมี ประกาศ เรื่องจำนวนการลงทะเบียนเบอร์โทรศัพท์มือถือ โดยมีข้อกำหนดในการควบคุมจำนวนการลงทะเบียนเบอร์มือถือได้ไม่เกิน 5 เลขหมาย ต่อ 1 เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน ต่อ 1 ผู้ให้บริการ โดยมีผล 18 สิงหาคม 2565  และหากผู้บริโภคจำเป็นต้องเปิดใช้งานซิมการ์ดที่ 6 หรือมากกว่านี้ จะต้องไปลงทะเบียน และยืนยันตัวตนที่ศูนย์บริการเท่านั้น แต่ก็ยังเกิดกรณีที่ผู้บริโภคโดนสวมรอยบัตรประชาชนนำไปเปิดเบอร์มือถือไปถึง 34 เบอร์

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคแนะนำว่า แนวทางหนึ่งที่ผู้บริโภคสามารถป้องกันตัวเองจากการถูกสวมรอยเปิดเบอร์ คือการใช้แอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “3 ชั้น” ซึ่งถูกสร้างโดย กสทช. เป็นแอปฯ ที่จะช่วย “ตรวจ – แจ้ง – ล็อก” คือผู้บริโภคสามารถตรวจสอบว่าชื่อของเราลงทะเบียนการใช้โทรศัพท์มือถือไว้จำนวนกี่เบอร์ สามารถแจ้งเบอร์แปลกปลอมและเบอร์ที่ขาดหายไป รวมทั้งสามารถล็อกไม่ให้คนอื่นใช้ชื่อเราในการเปิดเบอร์ใหม่ และสามารถปลดล็อกได้ในกรณีที่เราต้องการจะเปิดเบอร์ใหม่เองจริง ๆ (ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ แอปพลิเคชัน 3 ชั้น)

อย่างไรก็ตาม หน้าที่การตรวจสอบและป้องกันไม่ควรถูกผลักให้เป็นภาระของผู้บริโภค สภาผู้บริโภค จึงเสนอว่า ค่ายมือถือควรมีมาตรการที่เข้มงวดและรัดกุมมากยิ่งขึ้นในการตรวจสอบและยืนยันตัวผู้ใช้ก่อนเปิดเบอร์โทรศัพท์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก

สำหรับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการแอบอ้างนำบัตรประจำตัวประชาชนไปใช้เปิดเบอร์โทรศัพท์มือถือ สามารถร้องเรียนไปที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของสำนักงาน กสทช. เบอร์สายด่วน 1200 ช่องทางเพิ่มเติมได้ที่ ช่องทางการร้องเรียน หรือ ติดต่อศูนย์บริการของค่ายมือถือที่ใช้งานอยู่ และสามารถร้องเรียนได้ที่สภาผู้บริโภค ตามช่องทางดังต่อไปนี้

  • ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
  • อีเมล : [email protected]
  • โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1, 081 134 3215 หรือ 081 134 3216
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
  • อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค