เร่ง กทม. เยียวยาผู้เสียหาย ‘สะพานยกระดับข้ามแยกบางกะปิ’ หล่นทับคนงาน

สภาผู้บริโภค เรียกร้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร และบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง เยียวยาผู้เสียหาย จากกรณีแผ่นเหล็กสะพานยกระดับข้ามแยกบางกะปิ หล่นทับคนงานเสียชีวิต

จากอุบัติเหตุระหว่างการซ่อมแซมแผ่นเหล็กสะพานยกระดับข้ามแยกบางกะปิ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ขณะรื้อถอนแผ่นเหล็กที่อยู่ใต้ท้องสะพานความยาวประมาณ 10 เมตร ร่วงลงมาทับคนงานที่ปฏิบัติงานอยู่ ได้รับบาดเจ็บ 2 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คนนั้น

โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ระบุว่า กรณีดังกล่าวเกิดจากการก่อสร้างหรือซ่อมแซมสะพานของภาครัฐ อีกทั้งเกิดจากความประมาทของผู้รับเหมาที่รัฐเป็นผู้ว่าจ้าง ในกรณีข้างต้นพบว่า หัวหน้างานก่อสร้างไม่ได้อยู่ในสถานที่เกิดเหตุในเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงหลังเกิดเหตุยังไม่มีเจ้าหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2561 –  2566 พบว่ามีการเกิดอุบัติเหตุในลักษณะที่คล้ายกับกรณีแผ่นเหล็กสะพานยกระดับข้ามแยกบางกะปิหล่นทับคนงานทุกปี เป็นจำนวนกว่า 10 เหตุการณ์ อาทิ ปี 2561 ได้เกิดเหตุคานสะพานลอย ร่วงขวางถนน บริเวณรังสิต ปี 2562 สะพานข้ามลำน้ำทวยพังถล่ม ปี 2563 สะพานทางข้ามถนนวงแหวนรอบนอกโคราชถล่มที่บ้านโคกสูง และก่อนเหตุการณ์แผ่นเหล็กสะพานยกระดับข้ามแยกบางกะปิหล่นนั้น ก็เกิดเกตุการณ์ที่เป็นกระแสหนักคือสะพานข้ามแยกลาดกระบังกล่ม เป็นต้น ซึ่งทุกเหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นมีทั้งผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้ได้รับความเสียหายทางทรัพย์สินจำนวนหลายราย

โสภณ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีกระบวนการตรวจรับและติดตามการทำงานตลอดการก่อสร้างของผู้รับจ้างอย่างสม่ำเสมอ โดยให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างจากภาครัฐเข้ามาตรวจสอบร่วมด้วย และสภาผู้บริโภคขอเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบ รวมทั้งบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ออกมาแสดงความรับผิดชอบ ชดเชยเยียวยาผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต รวมถึงทรัพย์สินต่าง ๆ โดยเร็วและเป็นธรรม

“การมีมาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงผู้ปฏิบัติงานในเขตก่อสร้างด้วย และต้องพิจารณาการตรวจสอบและการจัดให้มีอุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงานในเขตก่อสร้างนั้นด้วย อย่างไรก็ตามเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งตรวจสอบทุกโครงการหลังจากนี้อย่างรอบคอบ และไม่ควรปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นซ้ำอีก” โสภณ กล่าว          

สำหรับผู้บริโภคที่ได้รับความไม่ปลอดภัยจากการก่อสร้าง หรือได้รับความเสียหาย หรือได้รับการชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรมจากบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถร้องเรียนออนไลน์กับสภาผู้บริโภค ที่เว็บไซต์ https://www.tcc.or.th/  

โดยแนบหลักฐานร้องเรียนเบื้องต้น ดังนี้

1. ภาพถ่ายหรือหลักฐานความเสียหายของรถยนต์และทรัพย์สินต่าง ๆ

2. ใบเสร็จค่าซ่อม

3. ใบรับรองแพทย์/หลักฐานค่ารักษาพยาบาล (กรณีบาดเจ็บ)

4. รายละเอียดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเดินทางที่เกิดจาการติดต่อแจ้งความ หรือไปโรงพยาบาล

5. สำเนาบันทึกประจำวันจากตำรวจ หรือสามารถโทรศัพท์ปรึกษาได้ที่เบอร์ 02 239 1839 กด 1 ในวันและเวลาทำการ

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค