ต่างชาติประสบอุบัติเหตุทางรถ รพ.เอกชนไม่รับ ละเมิด กม. – สิทธิมนุษยชน

สภาผู้บริโภค ระบุ ผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนทุกคนจะถูกคุ้มครองด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ทันทีโดยที่ไม่ต้องพิสูจน์ว่าถูกหรือผิด ชี้ โรงพยาบาลทุกแห่งไม่ควรปฏิเสธการรักษา ด้วยเหตุผลเป็นชาวต่างชาติ แต่ควรยึดหลักสิทธิมนุษยชนช่วยเหลือจนพ้นอันตรายก่อน

จากกรณีที่นักท่องเที่ยวชายชาวไต้หวันประสบอุบัติเหตุถูกรถชนในไทย แต่เมื่อนำตัวส่งโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ห่างจากที่เกิดเหตุราว 500 เมตร กลับถูกโรงพยาบาลปฏิเสธรับตัวผู้บาดเจ็บ เนื่องจากเป็นชาวต่างชาติ ทำให้รถพยาบาลต้องนำนักท่องเที่ยวรายนี้ไปยังโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ห่างออกไป 10 กิโลเมตรแทน และในระหว่างทางขณะนำตัวส่งอีกโรงพยาบาลนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันจึงเสียชีวิตนั้น

วันนี้ (14 ธันวาคม 2566) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ได้แสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตที่ประสบอุบัติถูกรถชนรายนี้และได้แสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าวว่า ตามหลักมนุษยธรรม โรงพยาบาลทุกแห่งไม่มีเหตุผลและไม่ควรปฏิเสธการรักษากรณีมีผู้ป่วยจากอุบัติเหตุฉุกเฉินหรือมีอาการไม่รู้สึกตัวและยังเข้าข่าย 6 อาการตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP : ยูเซ็ป) ได้แก่ 1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง 3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น 4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6. อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย

ที่สำคัญ คือ เมื่อประสบอุบัติเหตุรถชนจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต คนทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ จะต้องได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ทันทีเพราะถือว่าเป็นผู้ประสบเหตุทางถนน โดยที่ไม่ต้องพิสูจน์ว่าถูกหรือผิด และเป็นสิ่งที่ทั่วโลกพึงปฏิบัติเมื่อมีผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุโดยไม่ได้แบ่งว่าเป็นคนในประเทศหรือเป็นคนต่างชาติ

“การปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินที่ไม่รู้สึกตัวอย่างเช่นเคสชาวไต้หวันรายนี้และให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐแทนนั้น เป็นการละเมิดหลักมนุษยธรรม ละเมิดสิทธิตามกฎหมาย และยังไม่เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ที่สำคัญยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศที่ไม่ดูแลมนุษย์ให้เท่าเทียมกันอีกด้วย” เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุ

สารี ระบุว่า กฎหมายข้างต้นได้กำหนดการชดเชยเยียวยาความเสียหายในเรื่องค่ารักษาพยาบาล 80,000 บาท โดยจะจ่ายตามจริงให้โรงพยาบาล หากสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ ถาวร ชดเชยระหว่าง 200,000 – 500,000 บาท และหากเสียชีวิตจะต้องได้รับค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาท นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวยังให้เงินชดเชยเป็นรายวัน สำหรับผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลหรือรักษาตัววันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วันอีกด้วย หากเป็นรถโดยสารสาธารณะชนจะมีการบังคับทำประกันภัยชั้น 1 อยู่แล้ว สามารถเรียกร้องความเสียหายจากรถโดยสารคันดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามหากรถคันที่ชนไม่มีประกันภัยยังสามารถนำความคุ้มครองจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเข้ามาช่วยเหลือ รวมถึงการไล่เบี้ยกับเจ้าของรถร่วมด้วย ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยกรณีประสบอุบัติเหตุหรืออยู่ในวิกฤตฉุกเฉินถือเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยตามกฎหมายและตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยที่โรงพยาบาลไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธการดูแลผู้ป่วยและควรดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นโดยยึดจากการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นพื้นฐานก่อน

สารี ระบุอีกว่า จากข่าวที่ออกมาคือชาวไต้หวันรายดังกล่าวหมดสติ ซึ่งการที่หมดสติเท่ากับเข้าข่ายวิกฤตฉุกเฉิน ดังนั้นสถานพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความเป็นธรรม ช่วยเหลือผู้ป่วยทันทีให้พ้นขีดอันตราย โดยไม่แบ่งว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ ทั้งนี้แม้ว่านโยบายยูเซ็ปนั้นจะครอบคลุมเพียงกรณีที่เป็นคนไทย แต่ใน พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มาตรา 36 ระบุว่า ‘ผู้รับอนุญาตและผู้ดําเนินการของสถานพยาบาลต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจําเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาลนั้น ๆ’ และหากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับถึง 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ระบุอีกว่าใครที่อยู่ในวิกฤตฉุกเฉินทุกคนต้องได้รับการดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน

นอกจากประเด็นการช่วยเหลือข้างต้นแล้วนั้น สารี เห็นด้วยที่นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยต้องมีหลักประกันภัยด้านสุขภาพ เช่น การทำประกันภัยสุขภาพ เพื่อช่วยลดภาระงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศได้ส่วนหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาว่าไทยระบุว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในไทยไม่ต้องขอวีซ่า ซึ่งอาจช่วยให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่หากเกิดการเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุและการที่นักท่องเที่ยวมีประกันภัยจะช่วยลดภาระประเทศในการรักษาพยาบาล เช่นเดียวกับเมื่อคนไทยเดินทางไปต่างประเทศจะถูกบังคับให้ทำประกันภัยไปโดยปริยาย เพราะเห็นว่าครองชีพและค่ารักษาพยาบาลในต่างประเทศมีราคาที่สูงมาก เช่น ในยุโรป ออสเตรเลีย หรือสหรัฐอเมริกา

แต่ทั้งนี้ต้องการย้ำว่า การที่ผู้ป่วยหมดสติและการจะแจ้งโรงพยาบาลจึงทำได้จำกัดเพราะไม่รู้สึกตัว ดังนั้น การพิสูจน์ว่ามีประกันภัยหรือไม่มีจึงเป็นไปได้ยาก แต่หากโรงพยาบาลยึดหลักการดูแลคนไข้ในกรณีฉุกเฉินไม่ต้องรอพิสูจน์ข้อมูลต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ทันที โดยช่วยเหลือในเบื้องต้นจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตหรือพ้นขีดอันตรายได้


#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค