ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ประจำเดือนมกราคม 2567

อนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาผู้บริโภค ขานรับธีมงานวันผู้บริโภคสากล 15 มีนาคม 2567 “AI ที่มีความรับผิดชอบและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค” เตรียมจัดกิจกรรมให้ความรู้ผู้บริโภคเท่าทันการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ทำการตลาดขายสินค้าและบริการในยุคปัจจุบัน

ด้วยในวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี องค์กรของผู้บริโภคทั่วโลกกำหนดให้เป็น  “วันสิทธิผู้บริโภคโลกหรือวันสิทธิผู้บริโภคสากล” เพื่อเป็นวันนัดหมายที่จะร่วมกันสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภค การคุ้มครองผู้บริโภค และการเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรผู้บริโภค โดยในวันสิทธิผู้บริโภคสากลปี 2567 องค์กรของผู้บริโภคทั่วโลกได้กำหนดเรื่องการรณรงค์ร่วมกันในหัวข้อ  “AI ที่มีความรับผิดชอบและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค”

สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงใช้วาระนี้ในการจัดประชุมสมาชิกจำนวน 314 องค์กรทั่วประทศ รวมทั้งองค์กรผู้บริโภคทั่วไป เพื่อร่วมแสดงพลังเรียกร้องให้เกิดการยกระดับสิทธิผู้บริโภคไทยให้ทัดเทียมสิทธิผู้บริโภคสากล และร่วมรณรงค์ให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นปัญหาร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั่วโลกด้วย

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม 2567 ซึ่งมีนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบาย เป็นประธานที่ประชุม ได้เห็นชอบร่วมกัน ที่จะให้มีการจัดกิจกรรมร่วมในวันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day) ที่สภาผู้บริโภคจะจัดขึ้นในวันที่ 14 และ 15 มีนาคม 2567

โดยเบื้องต้นพิจารณาให้มีกิจกรรมเวทีในหัวข้อที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในปัจจุบัน เช่น อาจมีเวทีแลกเปลี่ยนในเรื่องการใช้ AI ในตลาดออนไลน์ที่รับผิดชอบและเป็นธรรมกับผู้บริโภค หรืออาจเน้นในเรื่องที่ผู้บริโภคประสบปัญหาอย่างมากในขณะนี้ คือ เรื่องแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) เทคโนโลยีในการปลอมแปลงใบหน้าและเสียงของบุคคลด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) (Deepfake) การเลียนเสียง การรู้เท่ากัน การถอดบทเรียน การแจ้งเตือน และควรมีกรณีตัวอย่างมานำเสนอเพื่อให้เพื่อผู้บริโภคได้เรียนรู้และมีความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว

อีกทั้ง เป็นกิจกรรมที่ไม่เน้นความเป็นวิชาการมากเกินไป เพื่อให้องค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภคได้ความรู้ ความเข้าใจ และมีส่วนร่วม มีทักษะการตรวจสอบ และเฝ้าระวัง โดยเริ่มด้วยการสร้างทักษะการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-Checking) การรายงานตัวอย่างกรณีศึกษา (Case Study) ใน TikTok หรือ Platform อื่นๆ ซึ่งปัจจุบันใน TikTok มีการแจ้งให้นักสร้างคอนเทนต์ (Content Creator) ต้องมีการติดป้ายว่าเป็น Generative AI ในขณะที่ Facebook กลับลบข้อความที่เป็น Generative AI ออกทำให้เกิดการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ดังนั้นกิจกรรมนี้คณะอนุกรรมการฯ จึงมีความคาดหวังที่จะได้ข้อเสนอจากองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภคที่เข้าร่วมประชุม ได้มีข้อเสนอต่อ Platform ต่างๆ ที่จะมีมาตรการที่แสดงถึงความรับผิดชอบและเคารพในสิทธิของผู้บริโภค