ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านการศึกษา ประจำเดือนมกราคม 2567

สภาผู้บริโภค ตั้งคณะทำงานด้านการศึกษาชุดใหม่ติดตามนโยบายการจัดการศึกษาของภาครัฐตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

จากที่คณะกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค (กนย.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 มีเห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานด้านการศึกษาชุดใหม่แทนคณะทำงานชุดเดิม โดยมีนายอรรถพล   อนันตวรสกุล เป็นประธานคณะทำงาน และมีคณะทำงานอีก 6 คน คือ นางรัชนี  ธงไชย, นายสมชาย คุ้มพูล, พท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี, นายเชษฐา  มั่นคง, นายเนติวิทย์  โชติภัทร์ไพศาล และนายพัฒนะพงษ์  สุขมะดัน

ทั้งนี้คณะทำงานด้านการศึกษาชุดใหม่ ได้จัดให้มีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 29 มกราคม 2567 เพื่อรับทราบถึงผลการดำเนินงานของคณะทำงานด้านการศึกษาชุดเดิม ในการร้องขอให้สภาผู้บริโภคพิจารณาฟ้องคดีแทนต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้ยกเลิกประกาศการจัดเก็บเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษา ซึ่งในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 – เมษายน 2566 คณะทำงานด้านการศึกษาชุดเดิมได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอให้ดำเนินการยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “การจัดเก็บเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษา” โดยการยกเลิกจะส่งผลให้เด็กทุกคนได้รับสิทธิในการได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 แต่ไม่มีการยกเลิกประกาศดังกล่าว

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของคณะทำงานศึกษาชุดใหม่ ที่ประชุมได้พิจารณาถึงแนวทางการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและผลักดันการศึกษาภาคบังคับตามรัฐธรรมนูญและแนวทางการจัดทำข้อเสนอแนะและผลักดันการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของเด็กอย่างมีความสุขตามที่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 กำหนดไว้ในมาตรา 54 และมาตรา 258 โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการด้านการศึกษาของเด็กเล็ก ดังนี้

  1. รัฐต้องจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพเป็นเวลาสิบสองปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ
  2. รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา โดยพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
  3. รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก
  4. ในการปฏิรูประเทศด้านการศึกษา รัฐจะต้องเริ่มดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายให้เป็นรูปธรรม

ทั้งนี้เพื่อให้การกำหนดแผนและแนวทางการทำงานขอคณะทำงานให้ชัดเจน ที่ประชุมคณะทำงานด้านการศึกษาจึงเห็นควรให้ทำหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อขอข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ความชัดเจนในมาตรการหรือแนวปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 ความคืบหน้าในการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่  ข้อมูลสถานการณ์ เด็กกลุ่มเปราะบาง เด็กกลุ่มเสี่ยงในระบบการศึกษาและเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางการทำงานของคณะทำงานด้านการศึกษาต่อไป