ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ประจำเดือนตุลาคม 2566

อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค เสนอรัฐบาลเร่งจัดทำระบบแจ้งเตือนสาธารณภัยแห่งชาติ (Thai Alert) ที่ครอบคลุมสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง การก่อวินาศกรรม ด้านภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงเหตุความรุนแรงจากอาชญากรรมในที่สาธารณะและเกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในบริเวณห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน จนมีผู้บริโภคและพนักงานได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง ทรัพย์สินของเอกชนได้รับความเสียหาย และยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและจิตใจของประชาชนในวงกว้าง ทั้งนี้ ได้มีประชาชนจำนวนมากได้เรียกร้องผ่านสื่อสาธารณะให้รัฐบาลมีระบบการแจ้งเตือนภัย (Thai Emergency Alert) ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ เซลล์บอร์ดแคสต์ (Cell Broadcast)

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 8/2566 ซึ่งมีนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบาย เป็นประธานที่ประชุม ได้มีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวพบข้อมูลว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นภัยอันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ที่มีผู้ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน และเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน อันเป็นลักษณะของภัยที่อยู่ภายใต้นิยามของคำว่า “สาธารณภัย” ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ซึ่งกำหนดให้ “สาธารณภัย” หมายความถึง อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาดในมนุษย์ โรคระบาดสัตว์ โรคระบาดสัตว์น้ำ การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนภัยอื่น ๆ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ มีผู้ทำให้เกิดขึ้น อุบัติขึ้น หรือเหตุอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ และให้หมายความรวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรมด้วย ซึ่งตามกฎหมายนี้กำหนดให้การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะรองประธานกรรมการฯ คนที่ 1 และในฐานะผู้บัญชาการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ

จากข้อมูลดังกล่าวสำนักงานสภาผู้บริโภค จึงได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจควบคุมและกำกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั่วราชอาณาจักร สั่งการให้มีการดำเนินการสร้าง ระบบแจ้งเตือนสาธารณะภัยแห่งชาติ (Thai Alert) ด้วยระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ Cell Broadcast รวมทั้งให้มีการการแจ้งเตือนภัยผ่านโทรทัศน์และวิทยุด้วย โดยให้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น โดยต้องกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบในการแจ้งเตือนภัยตามระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ที่ชัดเจน เพื่อการสั่งการที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเกิดประโยชน์สูงสุดกับสาธารณชน

ทั้งนี้ อนุด้านการสื่อสารฯ  เห็นควรให้มีการติดตามข้อเสนอที่ส่งไปยังกระทรวงมหาดไทย และให้มีหนังสืออีกฉบับเพื่อติดตามทวงถามกับ กสทช. เกี่ยวกับแผนการดำเนินงาน การผลักดันให้มีมาตรการแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ และให้มีการเปิดเวทีสาธารณะ Consumer Forum โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เครือข่ายผู้บริโภค บริษัทผู้ให้บริการมือถือ หน่วยงานภาครัฐ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ บทบาทหน้าที่เมื่อเกิดภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินว่าควรมีมาตรการเตือนประชาชนอย่างไร บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อเหตุฉุกเฉินในระดับต่างๆ ควรเป็นอย่างไร โดยให้จัดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566