ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านบริการสุขภาพ ประจำเดือนตุลาคม 2566

สปสช. ตอบกลับข้อเสนอแนะสภาผู้บริโภค ในการยกระดับสิทธิตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำกับไม่ให้มีการเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่มีสิทธิเรียกเก็บ (Extra Billing) การดูแลผู้มีสิทธิตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกรณีเจ็บป่วย ฉุกเฉิน วิกฤต

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ ครั้งที่ 72566 วันพฤหัสบดี คุณสุรีรัตน์  ตรีมรรคา กรรมการนโยบายและประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค เป็นประธานที่ประชุม ได้มีการติดตามผลการดำเนินการจากที่สภาผู้บริโภคได้ทำข้อเสนอแนะนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพไปยังเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และมีการตอบกลับจาก สปสช. โดยมีสาระที่น่าสนใจดังนี้

ประเด็นที่ 1 ขอให้ สปสช. กำกับไม่ให้มีการเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่มีสิทธิเรียกเก็บ (Extra Billing) และเร่งรัดกระบวนการพิจารณาเรื่องยานอกบัญชีหลักแห่งชาติในบางกรณีและในบางโรคที่จำเป็น

สปสช. ได้ชี้แจงว่าได้จัดให้มีกลไกภายในในการพิจารณากรณีรายการยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่จำเป็นต้องใช้ หากเป็นยาที่มีประสิทธิผลดีกว่าหรือเท่ากับยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ และมีราคาถูกกว่าหรือเท่ากับยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ และเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อพิจารณาบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ

ประเด็นที่ 2 ขอให้ สปสช. พิจารณานำระบบการเบิกจ่ายโดยใช้การจ่ายตามรายการที่กำหนด (Fee schedule) ในกรณีที่ผู้บริโภคไปใช้บริการเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉินแก่โรงพยาบาลรัฐเช่นเดียวกับโรงพยาบาลเอกชน   

สปสช. ชี้แจงว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฯ และหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขฯ การรับค่าใช้จ่ายฯ โดยกรณีที่ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เจ็บป่วย ฉุกเฉิน วิกฤต ที่เข้ารับบริการใน รพ.รัฐ (UCEPภาครัฐ) กรณีมีบริการห้องฉุกเฉินคุณภาพ รพ.รัฐ สามารถเบิกจ่ายค่าใช้จ่าย (Fee schedule) ได้ใน 24 ชั่วโมงแรก เพิ่มเติมจากการเบิกจ่ายตาม DRGs

ประเด็นที่ 3 ขอให้ สปสช. ติดตามและสนับสนุนการดำเนินการ และงบประมาณที่จำเป็นในนการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายและวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับภารกิจด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งเป็นภารกิจหลักของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

สปสช. ได้ชี้แจงว่า คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนมีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการบริหารจัดการงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามนโยบายการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข ในการติดตามและสนับสนุนการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. และมีการสนับสนุนงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์ที่ รพ.สต. เคยได้รับภายใต้ CUP ก่อนถ่ายโอน จะมีการจัดสรรที่ อบจ. และหน่วยบริการกระทรวงสาธารณสุขได้ตกลงกันภายใต้ความเห็นชอบจองคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่