ขับขี่ปลอดภัย ใช้ระบบเบรก ABS

ข้อมูลสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคม พบ รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุและทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดถึง 74.4 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงไทยยังมีคนเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก !

ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ (Thai RSC) ชี้ให้เห็นว่ารถจักรยานยนต์ขนาดความจุของกระบอกสูบต่ำกว่า 150 ซีซี มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุและทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 88 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะรถที่มีขนาดความจุของกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ซีซี มักจะมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ซึ่งในไทยนั้นมีผู้ใช้รถจักรยานยนต์ขนาดความจุของกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ซีซี คิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งหมด และเมื่อเกิดการชน ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงกว่าผู้ขับขี่ยานพาหนะประเภทอื่น ๆ ถึง 34 เท่า และมีแนวโน้มได้รับบาดเจ็บสูงกว่ารถกลุ่มอื่นถึง 8 เท่า

แต่อย่างไรก็ตาม รถกลุ่มดังกล่าวกลับเป็นรถจักรยานยนต์ในกลุ่มที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อกเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุแล้ว หรือที่เรียกว่าระบบเบรกเอบีเอส (Anti – Lock Braking System : ABS) ทั้งที่ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีการใช้ระบบเบรกเอบีเอส ทั้งในรถยนต์ และรถจักรยานยนต์

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าระบบเบรกเอบีเอส (ABS) คืออะไร และทำไมถึงมีความสำคัญกับรถจักรยานยนต์ วันนี้สภาผู้บริโภคชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับระบบเบรกที่ว่านี้ด้วยกัน…

ระบบเบรกเอบีเอสถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ล้อล็อกเมื่อใช้เบรกหนักหรือเบรกฉุกเฉิน และทำให้ผู้ใช้รถสามารถควบคุมทิศทางของรถได้ ข้อมูลจาก ‘งานวิจัยและตรวจสอบสมรรถนะการห้ามล้อจักรยานยนต์ตามมาตรฐานการทดสอบในประเทศ’ โดย สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ยังชี้ให้เห็นว่า รถจักรยานยนต์ที่มีระบบเอบีเอส สามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยในการขับขี่ในสถานการณ์จริงนั้น ผู้ขับขี่จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการขับรถบนพื้นถนนที่เปียกหรือถนนลื่นได้ ประกอบกับผู้ขับขี่แต่ละรายมีทักษะการขับขี่และทักษะการเบรกที่แตกต่างกัน

ดังนั้น รถจักรยานยนต์ที่มีการใช้ระบบเบรกเอบีเอสจะช่วยลดความเสี่ยงในการลื่นไถลของล้อ ซึ่งส่งผลให้สามารถควบคุมรถได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ในรายงาน ‘ระบบเบรก ABS ของรถจักรยานยนต์เพื่อปกป้องชีวิต’ ขององค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า ระบบเบรกเอบีเอสในรถจักรยานยนต์เป็นมาตรฐานที่ถูกพิสูจน์และถูกยอมรับในระดับนานาชาติ ทั้งองค์การสหประชาชาติที่ได้กำหนดในกฎเรื่องยานพาหนะให้ระบบเบรกเอบีเอสเป็น 1 ใน 8 มาตรฐานหลักที่ยานพาหนะทั้งหมดควรมี หรือ ในปี 2559 กลุ่มสหภาพยุโรปได้ออกกฎหมายเพื่อบังคับให้มีการติดตั้งระบบเบรกเอบีเอสในรถจักรยานยนต์ทุกคันที่มีความจุของกระบอกสูบของเครื่องยนต์มากกว่า 125 ซีซี

การติดตั้งระบบเบรกเอบีเอสสามารถลดทั้งการชน และลดผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดจากการชน ลดการบาดเจ็บและการเสียชีวิต จากหลักฐานอ้างอิงของเยอรมนี อินเดีย และ อินโดนีเซีย แสดงให้เห็นว่า ระบบเบรกเอบีเอสช่วยป้องกันอุบัติเหตุการชนในรถจักรยานยนต์ได้ถึงร้อยละ 26 33 และ 26 ตาม ลำดับ และสำหรับผลลัพธ์ด้านประสิทธิภาพของระบบเบรกเอบีเอส พบว่า สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ได้ประมาณหนึ่งในสี่หรือหนึ่งในสาม อีกทั้งอัตราการเกิดอุบัติเหตุจนทำให้ถึงแก่ชีวิตของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ติดตั้งระบบเบรกเอบีเอสนั้นน้อยกว่ารถจักรยานยนต์ที่ไม่ได้ติดตั้งระบบดังกล่าวถึง 37 เปอร์เซ็นต์

ส่วนในไทยนั้นมีมาตรการในเรื่องการติดระบบเบรกเอบีเอสในรถจักรยานยนต์รุ่นขนาดที่มากกว่า 125 ซีซีเท่านั้น ตั้งแต่ปี 2564 และในวันที่ 1 มกราคม 2567 จะมีการบังคับใช้ขึ้น ขณะที่ในรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ซีซี มีการกำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกได้ว่าจะติดตั้งระบบเบรกเอบีเอส หรือระบบเบรกแบบซีบีเอส (Combine Braking System : CBS) ซึ่งเป็นระบบที่กระจายแรงเบรกระหว่างล้อหน้าและล้อหลัง อย่างไรก็ตามจากการวิจัยของ National Highway Traffic Safety Administration ของอเมริกา พบว่า ระบบซีบีเอสมีระยะเบรกสั้นกว่าการเบรกด้วยล้อหลังเพียงอย่างเดียว และหากผู้ใช้รถเบรกแบบกะทันหันหรือเบรกอย่างรุนแรงจะไม่สามารถป้องกันการล็อกล้อได้เหมือนระบบเอบีเอส

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ออกรายงานว่าการติดตั้งระบบเบรกเอบีเอส ภาคบังคับสำหรับรถจักรยานยนต์ใหม่จะสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้ถึงปีละ 6,000 – 9,000 คน ดังนั้น จึงเห็นว่าการออกนโยบายภาคบังคับให้ผู้ประกอบการต้องติดตั้งระบบเบรกเอบีเอสทุกคันที่จำหน่ายจะทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนด้านนโยบายของภาครัฐ

ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนควรเร่งหาวิธีส่งเสริมเพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้รถจักรยานยนต์ที่ติดตั้งระบบเบรกทุกคันในราคาที่เข้าถึงได้ ไม่เป็นภาระกับผู้บริโภคมากเกินไป และรัฐควรบังคับใช้กฎหมายกับรถจักรยานยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ซีซี ที่เป็นกลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่ในไทยและเป็นขนาดรถที่มักจะมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดอีกด้วย นอกจากนี้ในอนาคตราคารถจักรยานยนต์ที่ติดตั้งระบบดังกล่าวน่าจะปรับลงได้เช่นเดียวกับกรณีคาร์ซีตที่มีการปรับราคาลดลงเมื่อมีการออกกฎหมาย

อย่างไรก็ตามระบบดังกล่าวนั้นจำเป็นต้องติดตั้งจากต้นทางการผลิตและไม่สามารถติดตั้งเพิ่มเติมภายหลังได้ จึงมองว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องกำกับดูแลให้รถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทยทุกรุ่นทุกคันติดตั้งระบบเบรกเอบีเอส และสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการเลือกซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ ควรเลือกซื้อรถจักยานยนต์ที่ติดตั้งระบบเอบีเอส เนื่องจากสามารถลดข้อจำกัดทั้งจากผู้ขับขี่และสภาพถนนซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุได้


อ้างอิง :

http://bit.ly/3ZnCrmA , http://bit.ly/413DtoO , http://bit.ly/3nQFPcE , http://bit.ly/3Zp2J7O , https://bit.ly/3KgofXY , http://bit.ly/3KBkxbU

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค