หนุน TAIA อบรมผู้ขับขี่ ใช้เบรก ABS ลดอุบัติเหตุ

สภาผู้บริโภคจับมือสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย วางแผนอบรม – ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักในเรื่องความปลอดภัย หวังลดอุบัติเหตุจากการใช้รถจักรยานยนต์

จากการที่สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (THE THAI AUTOMOTIVE INDUSTRY ASSOCIATION : TAIA) เดินทางมาร่วมหารือกับผู้บริหารสำนักงานสภาผู้บริโภคที่สำนักงานสภาผู้บริโภคในประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านต่าง ๆ โดยสมาคมฯ ได้เน้นถึงแผนการอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเบรกเกี่ยวกับวิธีการเบรก ทั้งสำหรับระบบห้ามล้อร่วม (ระบบเบรกแบบซีบีเอส : CBS) และระบบป้องกันล้อล็อก (ระบบเบรกเอบีเอส : ABS) เพื่อให้ผู้ขับขี่มีทักษะในการเบรกได้อย่างถูกต้องและทำให้การขับขี่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงจะมีการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ร่วมกับสภาผู้บริโภคในการสื่อสารข้อมูล เผยแพร่ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ของการใช้ระบบเบรกแบบซีบีเอสหรือเอบีเอส นั้น

ต่อมา ในวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ผู้บริหารสภาผู้บริโภคเดินทางไปยังสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เพื่อติดตามประเด็นร่วมหารือเรื่องแผนการอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเบรก รวมไปถึงแนวทางสื่อสารประชาสัมพันธ์การเลือกใช้รถจักรยานยนต์ที่มีระบบเบรกเอบีเอส เพื่อการขับขี่รถจักรยานยนต์ปลอดภัย และแนวทางความร่วมมือและสนับสนุนการใช้หมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐาน

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภคพร้อมสนับสนุนสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่มีการวางแผนอบรมและให้ความรู้ผู้บริโภคเกี่ยวกับระบบเบรกเอบีเอสหรือซีบีเอส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ต่างจังหวัด เนื่องจากปัจจุบันบริการขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัดยังไม่ครอบคลุม ทำให้ผู้บริโภคส่วนมากในต่างจังหวัดต้องใช้รถจักรยานยนต์ในการเดินทางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงควรส่งเสริมให้ผู้บริโภคที่จำเป็นต้องใช้รถจักรยานยนต์ใช้ด้วยวิธีการที่ถูกต้องและปลอดภัย

สำหรับเรื่องการประชาสัมพันธ์ สารี เสนอให้สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยรวบรวมรายชื่อรถจักรยานยนต์รุ่นต่ำกว่า 125 ซีซี ที่มีการติดตั้งระบบเบรกเอบีเอส เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงการอบรม รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคจะช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลดังกล่าวในช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ของสภาผู้บริโภคเช่นกัน เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อรถจักรยานยนต์

ด้าน บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค ให้ความเห็นถึงการโฆษณารถจักรยานยนต์ โดยระบุว่า แม้ภาครัฐจะมีมาตรการจะส่งเสริมการขับขี่ปลอดภัย แต่การโฆษณารถจักรยานยนต์ ยังใช้คำโฆษณาที่สื่อไปด้านความแรง ความเร็ว อาจเป็นการสนับสนุนให้ผู้บริโภคขับขี่รถเร็ว ที่เป็นสาเหตุของความไม่ปลอดภัยของการใช้รถใช้ถนน และการโฆษณาขายรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่มักไม่มีหมวกกันน็อกที่เป็นอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยอยู่ในภาพโฆษณา จึงอยากให้พิจารณาปรับปรุงเพื่อเป็นการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในอีกแง่หนึ่งด้วย

ชัยภวิศร์ ธวัชชัยนันท์ อนุกรรมการด้านสินค้าและบริการ สภาผู้บริโภค เสนอว่า สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยควรสร้างภาคีร่วมกับทีมอาชีวะ และอบรมกลุ่มอาชีวะ ให้สามารถสอนกลุ่มนักเรียนตามโรงเรียนได้ เพื่อให้รู้จักว่าระบบห้ามล้อแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงเป็นการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความปลอดภัยด้วย

ด้าน สายประสิทธิ์ เกิดนิยม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ให้ความเห็นถึงการอบรมว่า แม้จะเป็นการอบรมส่งเสริมขับขี่ปลอดภัย แต่หากมองอีกด้านอาจเป็นการส่งเสริมให้ใช้รถจักรยนต์มากขึ้น ทั้งนี้ในการอบรมอาจต้องให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงหากต้องใช้รถจักรยานยนต์ และกลุ่มเป้าหมายไม่ใช่เพียงแค่นักเรียนและคุณครู แต่ต้องรวมถึงผู้ปกครองด้วย

สุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ชี้แจงประเด็นการประชาสัมพันธ์รถจักรยานยนต์ที่มีระบบเบรกเอบีเอสจะเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ส่วนสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์จะประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับข้อมูลและความสำคัญของระบบห้ามล้อ เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักในการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น อย่างไรก็ตามสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ ยินดีให้ความร่วมที่จะติดต่อบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ เพื่อขอรายชื่อรถจักรยานยนต์ที่ติดตั้งระบบเบรกห้ามล้อแล้ว เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่สภาผู้บริโภค

แนวทางสื่อสารประชาสัมพันธ์การเลือกใช้รถจักรยานยนต์ที่มีระบบเบรกเอบีเอส และการใช้ระบบเบรกที่ถูกต้องสำหรับการขับขี่รถจักรยานยนต์ปลอดภัย ทางสมาคมได้จัดทำข้อมูลสำหรับนำไปหารือร่วมกับทางกรมขนส่งทางบกเพื่อแก้ไขและเพิ่มเติมในส่วนของเนื้อ ที่จะนำไปประชาสัมพันธ์ต่อไป เป็นรูปแบบการประชาสัมพันธ์แบบที่หน่วยงานอื่นสามารถนำต่อยอดได้ ส่วนข้อเสนอแนะเรื่องคำโฆษณา ยืนยันว่าการโฆษณารถจักรยานยนต์มุ่งเน้นไปที่ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ส่วนใหญ่จะไม่ใช้คำที่เน้นความเร็ว ความแรงของตัวเครื่อง แต่อย่างไรก็ตามทางสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์จะนำข้อเสนอแนะในครั้งนี้ไปปรับปรุงรูปแบบการโฆษณาและเฝ้าระวังการใช้คำที่อาจไม่เหมาะสมต่อไป

สุวัชร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การตัดสินใจเลือกซื้อรถจักรยานยนต์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน สามารถเลือกดูได้จากป้ายข้อมูลรถจักรยานยนต์ตามมาตรฐานสากล หรือ ECO Sticker จะช่วยให้ผู้บริโภคและประชาชนได้รับข้อมูลสมรรถนะรถจักรยานยนต์ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถนำไปเปรียบเทียบสมรรถนะของรถจักรยานยนต์แต่ละรุ่นได้ ในด้าน “สะอาด ประหยัด ปลอดภัย” เพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาเลือกซื้อรถจักรยานยนต์ได้

สำหรับเรื่องแผนการอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเบรกในระบบเบรกแบบซีบีเอสหรือเอบีเอสนั้น นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้ข้อมูลว่า ได้วางแผนการอบรมให้ความรู้ และเพิ่มหลักสูตรการคาดการอุบัติเหตุ การใช้เบรกที่ถูกต้อง ซึ่งจะเริ่มฝึกอบรมในเดือนกันยายน 2566 โดยมุ่งเน้นถึงความปลอดภัยจริง ๆ ไม่ใช่การโปรโมทสินค้าหรือสนับสนุนให้ผู้บริโภคต้องการใช้รถจักรยานยนต์มากขึ้น แต่เน้นให้ผู้เข้าร่วมใช่รถจักรยานยนต์ได้อย่างปลอดภัย

ส่วนเรื่องแนวทางความร่วมมือและสนับสนุนการใช้หมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐาน ทางสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย พร้อมให้ความร่วมกับสภาผู้บริโภคที่จะสนับสนุนให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ตระหนักถึงการเลือกใช้หมวกกันน็อกที่มีมาตรฐานร่วมกับการใช้รถที่มีมาตรฐานเช่นกัน

“เห็นด้วยกับการสนับสนุนให้ผู้บริโภคใช้อุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน ในเมื่อรถจักรยานยนต์ที่ใช้มีมาตจรฐาน ม.อ.ก. ตัวหมวกกันน็อกเองก็ต้องมี ม.อ.ก. เช่นกัน สิ่งที่สมาคมช่วยสนับสนุน คือให้ข้อมูลหมวกกันน็อกที่ผ่านมาตรฐานการทดสอบกับบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ เพื่อให้เลือกใช้หมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐานสำหรับแจกผู้บริโภคที่ซื้อสินค้า และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตหมวกที่ได้มาตรฐาน”

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค