ตึกสูงในซอยแออัด รถดับเพลิง – ฉุกเฉิน เข้าถึงได้ จริงหรือ?

ภาพประกอบนี้แสดงภาพเสมือนจริงที่จำลองมาเพื่อสะท้อนสถานการณ์หากเกิดเพลิงไหม้ในซอยแคบที่มีอาคารสูงตั้งอยู่ที่เพิ่มความแออัดให้กับชุมชนในซอยแคบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนรถยนต์ของผู้พักอาศัยในตึกสูงที่จอดรถน้อย จำเป็นต้องมาจอดรถบนพื้นที่ถนนสาธารณะจำนวนมาก ซึ่งอาจกีดขวางการจราจรในกรณีไฟไหม้ เหตุอพยพฉุกเฉิน หรือกรณีที่อาจกีดขวางรถพยาบาลที่ต้องเข้าถึงผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว

จากภาพจำลองจะเห็นได้ว่า ด้วยขนาดของรถดับเพลิงกินพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของซอยที่มีความกว้างเพียง 4.79 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ถนนที่มีการวัดขนาดความกว้างจริงในซอยประดิพัทธ์ 23 หากมีกรณีไฟไหม้บนตึกสูงที่ต้องการรถดับเพลิงแบบรถกระเช้า จึงจะสามารถเขาถึงจุดเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้ทันการณ์ทันเวลาจึงจะป้องกันความเสียหายได้ แต่ในความเป็นจริงจะพบว่า บนพื้นที่สาธารณะจะมีรถยนต์ทั้งขนาดเล็กและใหญ่กีดขวางพื้นที่ถนนทำให้การเข้าออกของรถดับเพลิงขนาดใหญ่แทบเป็นไปไม่ได้

อย่างเช่นในกรณีที่เคยเกิดขึ้นอย่าง โครงการ The Aetas ซอยร่วมฤดี ที่ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้มีการรื้อถอนอาคาร ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมาแล้วกว่า 10 ปี แต่ The Aetas ก็ยังมิได้มีการรื้อถอนอาคารแต่อย่างใด และยังเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยคล้าย ๆ กันอีก อย่างโครงการ Ashton Asoke ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาต เนื่องจากใช้ที่ดินผิดประเภท ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับชุมชนผู้อยู่อาศัยเดิม ภาคธุรกิจ อีกทั้งยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นและผู้อยู่อาศัยซึ่งเป็นผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถือว่าเรื่องนี้เป็น “บทเรียน”สำคัญที่ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องขบคิด หาทางป้องกันไม่ให้เกิด “ซ้ำรอย”

ในขณะเดียวกัน บทเรียนนี้อาจจะกลับมาอีกครั้ง เมื่อ 3 ชุมชนกลางกรุงประชาชนผู้อาศัยรอบข้างได้รับความเดือดร้อนจากโครงการอาคารสูงในซอยแคบ ซึ่งประกอบด้วยชุมชนโครงการเอส – ประดิพัทธ์ (ประดิพัทธ์ ซอย 23) โครงการเอส – รัชดา (รัชดา ซอย 44) และโครงการเดอะมูฟ (พหลโยธิน 37) ทั้ง 3 โครงการเป็นคอนโดแบบโลว์ไรส์ (Low Rise) คือ คอนโดที่มีความสูงไม่เกิน 23 เมตร หรือคอนโดที่มีความสูงประมาณ 8 ชั้น สร้างในซอยแคบ ที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความปลอดภัยของผู้คนในชุมชนดั้งเดิม

ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ได้กำหนดให้ทางสาธารณะที่สถานที่ก่อสร้างอาคารสูงระดับนี้ตั้งอยู่ จะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร แต่จากการลงพื้นที่วัดจริง (จากภาพ) จะเห็นว่าทั้ง 3 ซอยถ้าวัดตามคำนิยามของเขตทางคือวัดระยะถนนจากกำแพงด้านหนึ่งชนกับอีกด้านหนึ่งจะได้ 6 เมตร แต่วัดตามข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิต และการสัญจรจากพื้นผิวถนนซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในการสัญจรของยานพาหนะ ซึ่งพบว่าทั้ง 3 โครงการระยะห่างของถนนจากการวัดพื้นผิวถนนไม่ถึง 6 เมตร เมื่อเหตุไฟไหม้ทำให้รถดับเพลิง รถกู้ภัย รถพยาบาล ไม่สามารถขับผ่านเสาไฟฟ้า หรือสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ได้

ดังนั้น สภาผู้บริโภคเห็นว่าปัญหาความกว้างของทางสาธารณะในซอยที่จะมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ เป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีทั้งระยะความกว้างที่ยานพาหนะสัญจรได้จริงและวิธีการวัดที่ถูกต้อง ไม่ควรวัดเพื่อให้ได้ความกว้างตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเดียว หรือเป็นไปตามที่ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตพญาไท ที่ยืนยันว่าวิธีการวัดของเจ้าพนักงาน จะวัดแนวเขตทางจนถึงแปลงที่ดินโครงการ ตามนิยาม “ ทางสาธารณะและเขตทาง” ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 “โดยไม่คำนึงถึงสิ่งกีดขวาง”

ทั้ง ๆ ที่ตามสภาพตามเป็นจริงยานพาหนะที่สัญจรเข้า – ออกซอย ไม่สามารถขับขี่ผ่านวัตถุเหล่านั้นได้ หรือ สิ่งของเหล่านั้นได้ การวัดระยะความกว้าง จึงไม่ควรนับรวมทรัพย์สินของทางราชการ หรือ ของกรุงเทพมหานคร อาทิ เสาไฟฟ้า ตู้สื่อสาร เข้ารวมด้วย สิ่งกีดขวางเหล่านั้นจะทำให้การอพยพในช่วงเกิดเหตุฉุกเฉินไม่สามารถทำได้  ถึงเวลาหรือยังที่ต้องหยิบปัญหาค้างท่อที่หมักหมมมานานขึ้นมาแก้ไข ป้องกันเหตุสาธารณะภัยอันร้ายแรง ที่อาจหลีกเลี่ยงได้

สภาผู้บริโภคยืนยันข้อเสนอเชิงนโยบาย ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษ เพื่อพิจารณาจัดตั้งกองทุน EIA เป็นกองทุนอิสระ เพื่อให้เกิดความเป็นกลาง โปร่งใสในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม  เสนอขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 โดยขอให้กำหนดนิยาม “ทางสาธารณะ” และ “ผิวจราจร” ให้เป็นไปโดยสอดคล้องกับขนาดของอาคารขนาดใหญ่ เพื่อความปลอดภัยเมื่อเกิดอัคคีภัย

รวมถึงกำกับดูแลขั้นตอนการก่อสร้างอาคารใน กทม.อย่างเคร่งครัด เพื่อลดปัญหาและผลกระทบต่อผู้บริโภค และขอให้ กทม.ตั้งคณะทำงานร่วมกับสภาผู้บริโภค รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ ทบทวนการใช้และการมีต่อของมาตรา 39 ทวิ ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เพื่อให้การก่อสร้างอาคารเป็นไปอย่างถูกต้องและผ่านขั้นตอนของหน่วยงานอย่างแท้จริง

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค