สภาผู้บริโภคเสนอแก้เชิงนโยบายคุมโครงการก่อสร้างปลอดภัย 

สภาผู้บริโภคจับมือ 3 พรรคการเมือง เสนอ 3 มาตรการแก้ปัญหาก่อสร้างไม่ปลอดภัยในเชิงนโยบายผลักดันกฎหมายเพื่อให้เกิดการเยียวยาและแก้ปัญหาทันที พร้อมเรียกร้องหน่วยงานแก้ไขปัญหาชาวบ้านชุมชนป้าแดง เขตจอมทองที่ได้รับผลกระทบก่อสร้างถนนพระราม 2 แบบเร่งด่วนภายใน 7 วัน

อุบัติเหตุและผลกระทบจากการก่อสร้างไม่ปลอดภัยจากโครงการขนาดใหญ่มักเกิดขึ้นให้เห็นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะโครงการของรัฐ เช่น การก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ที่มีการก่อสร้างยาวนานกว่า 50 ปี ทั้งจากโครงการขยายถนนและการก่อสร้างเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการซ่อมแซมถนน ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชน รวมถึงอุบัติเหตุจากการก่อสร้างจากมาตรฐานความไม่ปลอดภัยทำให้มีประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนให้แก้ไขปัญหา

วันที่ 30 กันยายน 2566 สภาผู้บริโภค นำโดยสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภคได้เชิญ ตัวแทน 3 พรรคการเมือง ประกอบด้วย นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์  หรือ สส. ปูอัด พรรคก้าวไกล นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สก. เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย นายสารัช ม่วงศิริ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางขุนเทียน พรรคประชาธิปัตย์ และนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกสภาวิศวกร ลงพื้นที่ชุมชนป้าแดง เขตจอมทอง เพื่อร่วมรับฟังปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น และร่วมกันยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้าง

บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า หลังจากรับฟังผลกระทบจากชาวบ้านในชุมชน ทำให้เห็นว่าการก่อสร้างไม่ปลอดภัยและส่งผลกระทบต่อการชีวิตของประชาชน โดยเห็นว่าโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 มีจุดอ่อนในเรื่องความปลอดภัย เช่น ปัญหาการก่อสร้างใช้เวลานาน ไม่มีมาตรการควบคุมความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง ไม่มีป้ายบอกโครงการ ไม่มีเส้นทางเบี่ยงที่ให้คนเดินทางปลอดภัย ทำให้ประชาชนที่เดินทางต้องเสี่ยงต่อสิ่งของจากการก่อสร้างร่วงลงมาใส่

ดังนั้นจึงต้องมีการปรับระดับความปลอดภัยมากขึ้น โดยสภาผู้บริโภคเสนอให้มีการแก้ไขเชิงนโยบายและมีกฎหมายที่คุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน

“ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ถนนพระราม 2  เป็นระยะเวลามากกว่า 30 ปีเพราะต้องเดินทางจากอำเภอแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม มาทำงานที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ ทุกนาทีไม่รู้ว่าจะมีอะไรตกลงมาเมื่อไหร่ทำให้ชีวิตการเดินทางต้องเสี่ยงชีวิตตลอดเวลา จึงอยากให้มีการปิดตำนานพระราม 2 ซ่อม 7 ชั่วโคตร ไม่ควรเกิดขึ้นอีก” ประธานสภาผู้บริโภคกล่าว

บุญยืนกล่าวอีกว่า นอกจากการแก้ไขในพื้นที่แล้ว สภาผู้บริโภคจะนำข้อมูลที่ได้ไปสนับสนุนการแก้ไขในเชิงนโยบาย เพื่อสร้างความปลอดภัยในเชิงภาพรวมทั้งประเทศในอนาคต โดยมีเป้าหมายว่าผู้บริโภคต้องไม่เสี่ยงชีวิตกับความไม่ปลอดภัยจากการก่อสร้างอีกต่อไป

ขณะที่สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวหลังการลงพื้นที่ชุมชนป้าแดงว่า มีข้อเสนอใน 2 ระดับ โดยในระยะสั้น หรือการแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่เป็นความเดือดร้อน คือ 1. แก้ปัญหาน้ำท่วมขังชุมชนป้าแดงที่กระทบจากการก่อสร้างโดยต้องใช้ท่ออ่อนดูดน้ำออกจากชุมชน  2. การจัดการความปลอดภัยในการเดินทางบริเวณโครงการก่อสร้างจะเก็บกวาดอย่างไรให้เดินทางแล้วปลอดภัย 3. ต้องเร่งดำเนินการวางป้ายบอกทาง หรือ ชื่อโครงการก่อสร้างว่าเป็นของบริษัทไหน ก่อสร้างเสร็จเมื่อไหร่ เบอร์ติดต่อผู้รับผิดชอบเพื่อให้ชาวบ้านสามารถติดต่อได้

“ทั้ง 3 มาตรการอยากให้บริษัทดำเนินการได้ภายใน 7 วัน หากยังไม่ดำเนินการอยากให้ชาวชุมชนช่วยแจ้งมายังสภาผู้บริโภค หรือ สส.ปูอัด หรือ สก.วิรัช เพื่อที่จะได้ลงมาติดตามให้เกิดความปลอดภัยในระยะสั้นให้เกิดขึ้นจริงได้ภายใน 7 วัน” เลขาธิการสภาผู้บริโภคกล่าว

ส่วนมาตรการความปลอดภัยระยะยาว สารี กล่าวว่า ข้อแรกอยากเห็นการก่อสร้างแล้วมีแผนในเรื่องความปลอดภัยอย่างไร หรือหากเป็นไปได้จะสามารถก่อสร้างได้ที่ละครึ่งเพื่อให้สามารถใช้ทางร่วมกันและมีทางเบี่ยงที่ชัดเจนได้เพราะอยากเห็นการเดินทางของคนใช้ถนนไม่มีความเสี่ยงตลอด 24 ชั่วโมงได้อย่างไร สอง เร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วไม่ยืดเยื้อไม่ขยับเวลาก่อสร้าง และสาม อยากเห็นว่าการเยียวยาที่ทันท่วงที หากมีการเสียชีวิตชาวบ้านไม่ต้องไปฟ้องคดี แต่ต้องมีกลไกอัตโนมัติจากสัญญาก่อสร้างให้มีผู้มารับผิดชอบเยียวยา หรือมีประกันชีวิตในบุคคลที่ 3 ได้ทันที เช่น หากมีผู้เสียชีวิตต้องชดเชยเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 7.5 ล้านบาทขึ้นไป

สำหรับเสียงสะท้อนของชาวบ้านในชุมชนป้าแดง นางลัดดา พันธุมะโรจน์  อายุ 63 ปี ชาวบ้านชุมชนป้าแดงซึ่งโตมาพร้อมกับการสร้างถนนบนถนนพระราม 2 เป็นระยะเวลากว่า 40 ปี ระบุว่า ชาวบ้านในชุมชนได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างมาตลอด มีทั้งปัญหาฝุ่น ความไม่ปลอดภัยจากการเดินทางเกรงว่าคานเหล็กจะร่วงลงมาใส่ ขณะที่รวมถึงปัญหาน้ำท่วมในชุมชนที่ไม่สามารถระบายออกไปได้

“ชาวบ้านก็อยู่กับการก่อสร้างมานาน แต่เหมือนจะชิน แต่ที่ไม่ชินเพราะการก่อสร้างล่าสุดตัดท่อระบายน้ำเพื่อวางตอม่อทำให้นำท่วมขังในชุมชนตลอดเวลาซึ่งได้บอกและแจ้งไปแล้วก็ไม่มีการแก้ไข” นางลัดดากล่าว

ขณะที่นายวิรัตน์ เจริญดี และนายจำนงค์ เพชรเกษตร แกนนำชุมชนป้าแดง เล่าว่า การที่มีคนเรียกถนนพระราม 2 ว่าเป็นถนน 7 ชั่วโคตรนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เกินจริง เพราะจากที่อาศัยอยู่ในชุมชนมาเป็นระยะเวลาหลาย 10 ปีพบว่ามีการก่อสร้างอย่างไม่จบไม่สิ้นและไม่เคยเสร็จสักครั้ง ขณะที่การก่อสร้างก็ไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัย เช่น มีกรณีที่ชาวบ้านลื่นล้มเนื่องจากสภาพถนนที่ขรุขระหว่างก่อสร้าง อีกทั้งมีคนในชุมชนได้รับอุบัติเหตุมอเตอร์ไซต์ล้มอีกหลายราย แต่ชาวชุมชนไม่รู้ว่าต้องติดต่อความช่วยเหลือจากใครหรือโครงการใด

ขณะที่นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส. เขตจอมทอง – บางขุนเทียน – ท่าข้าม พรรคก้าวไกล หรือ สส.ปูอัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับเรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการก่อสร้างโครงการอย่างเช่น น้ำท่วมขังในพื้นที่ เศษปูนร่วงหล่นลงมาบนท้องถนนจนทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือแม้แต่เหตุการณ์สะพานกลับรถถล่มจนมีผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นประชาชนในเขตจอมทองซึ่งกรณีนี้ยังไม่ได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

และหลังจากเกิดเหตุการณ์สะพานกลับรถถล่มเมื่อปีที่ผ่านก็ได้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีข้อตกลงร่วมกันโดยไม่ให้มีการดำเนินการก่อสร้างก่อนเวลา 22.00 น.ทุกวัน แต่ปัจจุบันก็ยังพบว่ามีบางจุดที่ยังดำเนินการก่อสร้างก่อนเวลาที่ตกลงกันไว้ บางจุดก็เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เวลา 18.00 น. อย่างเช่นมีการเชื่อมเหล็กจนสะเก็ดไฟร่วงหล่นลงมา เป็นต้น

นอกจากนี้ในส่วนของงานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรคร่อมตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงดาวคะนอง – สุขสวัสดิ์ – ราษฎร์บูรณะก็ยังพบว่ามีบางจุดมีน้ำท่วมขังเป็นระยะทางกว่า 100 เมตรจนทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก บางรายก็ต้องลื่นล้มได้รับบาดเจ็บ

“ผมตั้งเป้าหมายว่าใน 4 ปีต้องปิดตำนานการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ให้ได้ โดยจะขับเคลื่อนยกระดับกฎหมายบรรเทาสาธารณะภัยให้มีการเยียวยาทันท่วงทีมีตัวเลขที่ชัดเจนเพราะทุกวันนี้หากมีผู้เสียชีวิตจากโครงสร้างขนาดใหญ่ ชาวบ้านไม่รู้เลยว่าเขาจะได้รับการเยียวยาจากที่ไหน เหมือนถูกทิ้งลอยแพ เพราะฉะนั้นการสร้างประเทศให้คนเท่ากัน กฎหมายต้องเท่าเทียมด้วยจึงจะเร่งผลักดันกฎหมายนี้” ส.ส.ปูอัด กล่าว

ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกสภาวิศวกรและอดีตผู้สมัคร สส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหลังการลงพื้นที่ว่า ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะชุมชนป้าแดงเสนอให้แก้ได้ 3 วิธีเพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คือ หนึ่ง “ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นเพื่อให้ประชาชนทราบข้อมูลที่แท้จริง” ทางที่สอง คือ “ปั๊มสูบน้ำ” และต่อท่ออ่อน เนื่องจากน้ำในชุมชนไม่สามารถระบายออกไปได้ เกิดจากโครงการก่อสร้างปิดทางระบายน้ำ ส่งผลให้น้ำในชุมชนเน่าและส่งกลิ่นเหม็น ผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างจึงจำเป็นต้องเยียวยาช่วยเหลือให้ตรงจุดเพื่อดูแลชุมชนความเป็นอยู่ของชุมชน

และทางสุดท้าย คือ “คืนผิวทางจราจร ให้ได้สัญจรตามมาตรฐานสากล” เมื่อโครงการก่อสร้างใช้พื้นที่ในส่วนของการสัญจรแล้วนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องโยกย้ายสิ่งของหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ออกไป เพื่อเปิดทางให้การสัญจรได้สะดวกยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ยังชี้ให้เห็นว่าการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ยังมีปัญหาเรื่องมาตรการความไม่ปลอดภัย เช่น 1. บริเวณโครงการก่อสร้างมีโครงสร้างปูนยื่นออกมานอกพื้นที่ก่อสร้างซึ่งหากยื่นออกนอกเขตพื้นที่โครงการต้องมีมาตรการควบคุมความปลอดภัยเพียงแค่ผ้าตาข่ายเขียวหุ้มเอาไว้ไม่เพียงพอ  2. ควรมีป้ายบอกชื่อโครงการ ผู้รับผิดชอบพร้อมเบอร์ติดต่อเพื่อทำให้ประชาชนสามารถติดต่อได้หากเกิดปัญหาความไม่ปลอดภัย

ส่วนมาตรการระยาว  ศ.ดร.สุชัชวีร์ได้เสนอให้มีองค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ โดยจะเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยสาธารณะโดยอิสระ ด้วยบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถ หลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับ มาตรฐานความปลอดภัยสาธารณะ มีความเป็นกลาง นำทางด้วยหลักการทางวิชาการ อย่างเคร่งครัด ในการกำกับดูแลความปลอดภัยสาธารณะของประชาชน

ทั้งนี้หลังการสำรวจและรับฟังปัญหาร่วมกันระหว่างสภาองค์กรของผู้บริโภค และ 3 พรรคการเมืองได้เห็นร่วมกันว่าจะมีการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในสภาผู้แทนราษฎรและสภากรุงเทพมหานคร ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาวร่วมกันให้เกิดความปลอดภัยบนถนน พระราม 2

ข้อมูลเพิ่มเติม

1. ปัจจุบันโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ 2 หน่วยงานคือ 1. กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 หรือ M82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว และ 2. โครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินการ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โดยก่อสร้างซ้อนทับถนนพระราม 2 จำนวน 2 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 เป็นงานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ 2  สัญญาที่ 2 เป็นงานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ 2

2. ชุมชนป้าแดง เขตจอม เป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี – ปากท่อ (ถนนพระราม 2) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2570

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค