ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ประจำเดือนธันวาคม 2566

อนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาผู้บริโภค เกาะติดผลกระทบผู้บริโภคหลัง กสทช. ปล่อยค่ายมือถือ อินเทอร์เน็ต ควบรวมกิจการจนเหลือคู่แข่งขันเจ้าใหญ่แค่ 2 ราย

จากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีมติที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 รับทราบกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู  และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ  dtac และมีมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 อนุญาตให้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทในเครือเอไอเอส (AIS) และบริษัท ทริปเปิลบี บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือทรีบีบี (3BB) รวมกิจการกันได้ แม้จะมีการพิจารณาข้อกังวล (Points of concern) และมีมติเห็นชอบเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะออกมารองรับการรวมกิจการทั้งสองกรณีดังกล่าว แต่ที่ผ่านมามีเสียงร้องทุกข์ของผู้บริโภคจำนวนมากว่าได้รับความเดือดร้อนจากการบริการมือถืออินเทอร์เน็ตที่เปลี่ยนไปหลังการควบรวม

เพื่อความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว สำนักงานสภาผู้บริโภคและองค์กรสมาชิก อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนไม่น้อยกว่า 2,000 ราย และการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย (Focus group) กับเครือข่ายองค์กรสมาชิกใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 10/2566 วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2566  ซึ่งมีนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบาย เป็นประธานที่ประชุม ได้เห็นชอบการจัดกิจกรรม Consumer Forum ครั้งที่ ๗ เพื่อเปิดผลสำรวจและผลกระทบของผู้บริโภคที่ได้รับหลังการควบรวมกิจการโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตบ้าน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. ในรูปแบบออนไลน์ โดยกิจกรรมครั้งนี้ จะเชิญตัวแทนเครือข่ายเข้าร่วมเป็นวิทยากร อาทิ นางสาวนฤมล เมฆบริสุทธิ์ ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางชโลม เกตุจินดา ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถานพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. และผู้ดำเนินรายการคือ คุณพลินี เสริมสินสิริ

ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2567 คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ ได้เห็นชอบต่อแผนการดำเนินงานด้านนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านสื่อสาร โทรคมนาคม ภายใต้ประเด็นขับเคลื่อน 3 ประเด็นใหญ่ คือ 1) การติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของ กสทช. ต่อเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะหลังปล่อยให้มีการรวมกิจการโทรคมนาคม 2) การติดตามมาตรการการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์และ SMS หลอกลวง โดยมุ่งเน้นในการติดตามมาตรการการกำหนดชื่อของผู้ส่ง SMS (Sender name) และการจำกัดการถือครองซิมการ์ดของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาซิมม้าที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวงประชาชน และ 3) การผลักดันให้เกิดกลไกลคุ้มครองประชาชนในสถานการณ์วิกฤติและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มเปราะบาง  โดยสภาผู้บริโภคมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการจัดทำ Thai Emergency Alert หรือศูนย์แจ้งเตือนภัยแห่งชาติด้วยระบบ Cell Broadcast (CB) ที่จะส่งข้อความแจ้งเตือนจากเสาสัญญาณกระจายไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่อง ทุกเครือข่ายในพื้นที่เป้าหมาย โดยไม่จำเป็นต้องทราบหมายเลขโทรศัพท์ในคราวเดียวกันทีละหลายล้านเครื่องได้อย่างรวดเร็ว