ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ประจำเดือนธันวาคม 2566

อนุบริการสาธารณะ พลังงานฯ เตรียมยกระดับทำข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี หลังยื่นข้อเสนอถึง รมว.พลังงานแล้ว ยังไม่เห็นความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาต้นทุนค่าไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2566 ซึ่งมี ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมนโยบายผู้เชี่ยวชาญ เป็นประธานในที่ประชุม เห็นชอบที่จะยกระดับให้ทำข้อเสนอเชิงนโยบายถึงนายกรัฐมนตรี  5 ข้อ ดังนี้

(1)ให้ลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของการไฟฟ้าด้วยการ ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่คิดกับกลุ่มปิโตรเคมีและการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยเสนอทางเลือก 2 แนวทางคือ ทางเลือกที่ 1 คือกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ขายให้โรงแยกก๊าซเป็นราคาเฉลี่ยจากก๊าซทุกแหล่งที่ใช้ในประเทศ (ราคา Pool Gas) ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าถูกลงทันทีหน่วยละ 20-25 สตางค์ต่อหน่วย ทางเลือกที่ 2 คือกำหนดราคา LPG จากโรงแยกก๊าซซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ให้ขายกับกลุ่มปิโตรเคมีเป็นราคา LPG ตลาดโลก และให้รายได้ส่วนเพิ่มที่โรงแยกก๊าซขายได้นี้นำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มที่จำหน่ายให้กับประชาชนในประเทศ และนำไปลดค่าเชื้อเพลิงที่โรงแยกก๊าซขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และให้ กฟผ. ได้สิทธิเป็นรายแรกในการซื้อก๊าซมีเทนจากโรงแยกก๊าซในราคาปัจจุบัน หากเหลือใช้จึงค่อยนำส่งเข้ารวมในราคา Pool Gas เพื่อขายให้แก่โรงไฟฟ้าเอกชนต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าถูกลงได้ 40-50 สตางค์ต่อหน่วย

(2)ให้ลดภาระจากปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นระบบด้วยการ ให้ยกเลิกผลการประมูลสร้างโรงไฟฟ้าที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้า PPA โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานฟอสซิลซึ่งมีแนวโน้มราคาแพงในอนาคต อีกทั้งไม่ตอบโจทย์เรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065  รวมถึงให้ชะลอการเซ็นสัญญา PPA เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในลาว ซึ่งมีต้นทุนในการรับซื้อไฟฟ้าสูงกว่าเขื่อนอื่น ๆ มาก และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงด้วย

(3)ให้มีบัญชาให้กระทรวงพลังงานนำทีมเจรจากับโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่หรือ IPP เพื่อลดค่าความพร้อมจ่ายลงร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี แลกกับการยืดเวลาจ่ายค่าพร้อมจ่ายออกไปอีก 2 ปี

(4)ให้เร่งออกมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคา แบบ Net metering/ Net Billing โดยตั้งเป้าหมาย 5 ปี ไม่น้อยกว่า 10,000 เมกะวัตต์ และสร้างแรงจูงใจแก่ประชาชนให้เข้าร่วมโครงการ เช่น การจัดตั้งกองทุนปล่อยกู้ติดตั้งโซลาร์แบบดอกเบี้ยต่ำ (ร้อยละ 1–3 ต่อปี)

(5)ให้ผู้บริโภคและประชาชนมีส่วนร่วมแต่แรกในการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า PDP ของประเทศใหม่ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ค.ศ. 2050 ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้กับประชาคมโลก และเพื่อให้มีความมั่นคงทางพลังงานในอนาคตรองรับการยกเลิกการใช้พลังงานฟอสซิล รวมถึงการหยุดสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลใหม่