เจอเชื้อราในกล่องนม! ร้องเรียน ได้ชดเชย

อย่าปล่อยให้ปัญหาที่พบจากการซื้อหาอาหารเพื่อการบริโภคเป็นเรื่องที่ต้อง “ทำใจ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารหมดอายุ พบสิ่งแปลกปลอม หรือสินค้าไม่เป็นไปตามโฆษณา นอกจากจะไม่ได้รับสินค้าที่เป็นไปตามมาตรฐานแล้ว การบริโภคอาหารไม่ปลอดภัยอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ สิ่งที่ผู้บริโภคทำได้คือรักษาสิทธิของตนเองด้วยการร้องเรียน

เรื่องเล่าผู้บริโภคครั้งนี้เป็นของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการดื่มผลิตภัณฑ์นม ยูเอชที รสจืด ยี่ห้อไทย – เดนมาร์ค ในวันที่ 24 มกราคม 2567 และพบว่ามีรสชาติผิดปกติ จึงเปิดกล่องออกและพบกับจุดราในนม นมก้นกล่องมีลักษณะเป็นแผ่นวุ้นที่รามีสีเขียว สีดำ ต่อมาส่งผลให้ท้องเสียในภายหลัง เมื่อตรวจสอบวันหมดอายุข้างกล่อง พบว่านมควรจะยังมีคุณภาพดีเพราะวันหมดอายุเป็นวันที่ 14 กันยายน 2567

เมื่อได้รับความเสียหาย ผู้บริโภคจึงได้โทรมาร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค โดยเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนแนะนำให้ผู้บริโภคที่พบสิ่งแปลกปลอมในอาหาร ถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างสินค้าไว้เป็นหลักฐาน กรณีมีใบเสร็จจากร้านค้าให้เก็บไว้เป็นหลักฐาน และหากได้รับความเสียหายจากการบริโภคควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน และนำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ โดยขอลงบันทึกประจำวันเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบ

ขณะที่สภาผู้บริโภคได้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้คืนเงินและชดเชยค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียเวลา และค่าขาดประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภค ต่อมาบริษัทฯ ได้ชดเชยเยียวยาแก่ผู้บริโภคตามมูลค่าความเสียหายที่ผู้บริโภคได้ระบุไว้ คือ จำนวน 5,000 บาท

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคได้รับความเสียหาย พบเจออาหารไม่ปลอดภัย เช่น สินค้าหมดอายุ สินค้ามีรสชาติแปลกไป สิ่งแปลกปลอมในอาหารหรือได้รับความเสียหายจากอาหารที่บริโภคเข้าไป เบื้องต้นให้ผู้บริโภครวบรวมหลักฐานตัวจริงต้นฉบับเก็บไว้กับตนเองโดยยังไม่มอบให้กับหน่วยงานใดๆ และโทรแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ  โดยแจ้งความต้องการที่จะให้บริษัทดำเนินการ เช่น ขอให้แก้ไขปัญหา ขอคืนสินค้า ขอเงินคืน หรือขอให้ชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่หากไม่ได้รับการชดเชยเยียวจากผู้ประกอบการหรือบริษัท ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภค โทร 1502 ในวันเวลาทำการ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 17.00 น.

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกอบการผลิตอาหารที่ไม่ปลอดภัย ถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 และต้องรับโทษตามมาตรา 58 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่ถึง 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่สำคัญหากไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้บริโภคสามารถใช้กระบวนการฟ้องร้องต่อศาลโดยใช้กฎหมายช่วยฟ้องหรือ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ในการดำเนินการฟ้องได้

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่พบว่ามีการทำฉลากใหม่ทับฉลากเก่า ถือว่าเป็นกรณีที่เข้าข่ายแสดงฉลากที่อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด เข้าข่ายการแสดงฉลากเพื่อลวง เช่น การเปลี่ยนแปลงวันหมดอายุ ถือเป็นความผิดตามมาตรา 25(2) และ 27(4) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 100,000 บาท และอาจเข้าข่ายการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ถือเป็นความผิดตามมาตรา 6(10) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

หากผู้บริโภคพบปัญหาความบกพร่องของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับฉลาก เช่น ทำฉลากใหม่ทับฉลากเก่า ไม่แสดงฉลากภาษาไทย แสดงฉลากไม่ครบถ้วนหรือแสดงฉลากอย่างไม่ถูกต้อง สามารถแจ้งร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ผ่านสายด่วน อย. 1556