ข่าวสื่อสารองค์กร : ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566

ไฟแรงสุดตั้งแต่ต้นปีกับฝ่ายสนับสนุนสมาชิกและองค์กรผู้บริโภค ลงพื้นที่ทั่วไทยขับเคลื่อนงานร่วมกันกับองค์กรสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวทีแลกเปลี่ยนการทำงานกับองค์กรสมาชิกใน จ.ฉะเชิงเทรา สนับสนุนงานเชิงนโยบายผ่านเวทีเสวนาภาคเหนือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นความร่วมมือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา การซื้อขายออนไลน์ และการคุกคามจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และที่ขาดไม่ได้คือการประชุมอย่างใกล้ชิดประจำทุกเดือนเพื่ออัปเดตผลงานการคุ้มครองผู้บริโภคสุดปังกับหน่วยงานประจำจังหวัดและหน่วยงานเขตพื้นที่ต่าง ๆ ขณะเดียวกันพบว่า ในเวลาเพียงหนึ่งเดือน หน่วยงานประจำจังหวัดและหน่วยงานเขตพื้นที่ รับเรื่องร้องเรียนผู้บริโภคในพื้นที่ของตัวเองไปกว่า 532 เรื่อง โดยมีมูลค่าความเสียหายที่ผู้บริโภคร้องเรียนทั้งหมดกว่า 31 ล้านบาทเลยทีเดียว


พรรคการเมืองไหนคุ้มครองผู้บริโภคบ้าง? ฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม ร่วมกับองค์กรสมาชิก รวบรวมและจัดทำข้อเสนอนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่สำคัญ 8 ด้าน เตรียมเสนอต่อพรรคการเมืองทุกพรรคเพื่อให้นำไปเป็นนโยบายหาเสียงและดำเนินการต่อไปหากได้รับการเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะเป็น 1) ปัญหาสิทธิการรักษาพยาบาลมาตรฐานเดียว 2) การจัดระเบียบการค้าและการเงินออนไลน์ ผู้บริโภคต้องไม่ถูกโกงจากการซื้อขายสินค้าและบริการ 3) นโยบายลดค่าไฟฟ้า ลดปัญหาโลกร้อน ควันพิษ และส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์ 4) เสนอนโยบายแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน 5) ประเด็นกิจการโทรคมนาคมต้องไม่ผูกขาด ประชาชนต้องปลอดภัยจาก SMS หลอกลวงและแก๊งคอลเซนเตอร์ 6) นโยบายขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้ ค่าโดยสารไม่เกิน 10% ของรายได้ต่อวัน 7) คุ้มครองสัญญาซื้อบ้านซื้อคอนโด ผู้บริโภคคนใดกู้เงินไม่ผ่านต้องไม่ถูกริบเงินดาวน์ 8) เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 ทำหนังสือสัญญาการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับอาหารและยาที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเจรจา

ฝากติดตามนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคของแต่ละพรรค พรรคใดตอบโจทย์หรือโดนใจผู้บริโภคมากที่สุด ถึงวันเลือกตั้งเมื่อไรอย่าลืมออกไปใช้สิทธิ์เลือกนักการเมืองที่คุ้มครองผู้บริโภคกัน


ช่วยจริง ไม่อวย! ต้องฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ช่วยผู้บริโภคจากการถูกบริษัท อีซี่โฮม (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทในเครือ ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นเรียกเงินค่าเช่าซื้อจากผู้บริโภค ขณะที่บริษัทฯ นำบ้านติดภาระจำนองที่ประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาดในราคาถูกไปทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้บริโภครายอื่น ๆ โดยยังไม่ได้ชำระหนี้จำนองให้เสร็จ จนผู้บริโภคที่เข้าทำสัญญาใหม่ถูกหมายแจ้งยึดทรัพย์จากสถาบันการเงิน

ต่อมาศาลได้ยกฟ้องและระบุว่าบริษัทฯ ไม่ได้ประกอบธุรกิจตามมาตรฐานที่เหมาะสมและเป็นธรรม และฝากแจ้งเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังพฤติกรรมการเชิญชวนให้ซื้อทรัพย์ที่ได้มาจากการขายทอดตลาดที่ติดจำนอง และก่อนทำสัญญาควรตรวจสอบก่อนว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทคู่สัญญาหรือปิดยอดหนี้จำนองเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจผิดกฎหมายหลอกขายของออนไลน์ แต่ไม่ส่งของให้ลูกค้าแถมยังไม่คืนเงินให้อีกด้วย


ปังไม่หยุดกับฝ่ายสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์ ที่ร่วมมือกับสถาบันอิศราจัดอบรมสื่อมวลชนภาคเหนือให้เป็น ‘นักข่าวด้านการคุ้มครองผู้บริโภค’ ผ่านการสอนวิธีคิดการจับประเด็นข่าว การทำอินโฟกราฟิกและคลิปวิดีโอ เพื่อนำไปต่อยอดการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งการให้ข้อมูลหรือเตือนภัยผู้บริโภคให้รู้เท่าทัน รวมถึง “ค่ายพัฒนานวัตกรรมการสื่อสารสำหรับคนรุ่นใหม่ : รวมพลังคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค” ที่ผ่านมาเกินครึ่งทางแล้วกับ 8 มหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นม.รังสิต มศว. ม.หาดใหญ่ มรภ.ภูเก็ต ม.มหาสารคาม ม.บูรพา ม.วลัยลักษณ์ และม.ศิลปากร ซึ่งมีน้อง ๆ คนรุ่นใหม่เข้าร่วมกิจกรรมกว่าพันคน และอีกอึดใจเดียว ทุกคนจะได้รับชมผลงานการผลิตสื่อสุดปัง ฉบับเพื่อ(น)ผู้บริโภคของน้อง ๆ จาก 10 มหาวิทยาลัย ในวันที่ 28 เม.ย. 66 นี้


เตรียมพบกับกิจกรรมที่น่าสนใจจากสภาผู้บริโภคในเดือนมี.ค. ทั้งค่ายรวมพลังคนรุ่นใหม่ เพื่อขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคที่เหลืออีก 2 มหาวิทยาลัย และการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหลืออีก 2 ภาค รวมถึงที่ขาดไม่ได้คือกิจกรรมสำหรับผู้บริโภคทุกคน อย่างวันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day) ที่จัดขึ้นทุกวันที่ 15 ในเดือน มี.ค. ของทุกปี ภายใต้หัวข้อ ‘สานพลังผู้บริโภค สู่พลังงานหมุนเวียน’


#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค