ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ประจำเดือนตุลาคม 2566

อนุกรรมการสินค้าและบริการทั่วไป เตรียมผลักดันข้อเสนอจัดระเบียบผู้ค้าสินค้าออนไลน์ต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนกับกระทรวงพาณิชย์อุดช่องโหว่กฎหมายขายตรงของ สคบ. ที่ควบคุมดูแลเฉพาะผู้ค้าขายตรงที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้าน พร้อมเตรียมเสนอต่อ สคบ.ให้มีการประกาศกำหนดมาตรฐานบริการส่งสินค้าแบบจัดเก็บเงินปลายทางหรือ Cash On Delivery (COD) ต้องให้ผู้บริโภคตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าได้และสามารถคืนสินค้าได้ทันทีผ่านบริการขนส่งนั้น  โดยให้บริษัทขนส่งสินค้าต้องถือเงินค่าสินค้าไว้อย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้สามารถคืนเงินให้ผู้บริโภคได้ทันทีในกรณีที่เกิดปัญหา

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป ครั้งที่ 9/2566 ได้มีการรับข้อมูลผลการสำรวจปัญหาการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยปัญหาสำคัญที่ผู้บริโภคพบจากการซื้อสินค้าออนไลน์ ได้แก่ การไม่แสดงราคาสินค้า การโฆษณาเป็นเท็จ/หลอกลวง/เกินจริง พนักงานส่งสินค้าทำพัสดุสูญหาย ชำรุด ล่าช้า การฉ้อโกง/หลอกลวง/ไม่ได้รับสินค้า/สินค้าไม่ถูกต้อง เทคนิคการขายไม่เหมาะสม หยาบคาย ลามก การขายสินค้าออนไลน์ไม่แสดงรายละเอียดสิ้นค้า ประเภทชนิดลักษณะ ขนาด น้ำหนักของสินค้า มีการขายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีเครื่องหมาย มอก. หรือ อย. สินค้าชํารุดบกพร่อง/สินค้าผิดมาตรฐาน และยังพบปัญหาได้รับสินค้าประเภทเก็บเงินปลายทางโดยที่ไม่ได้สั่งซื้อ

จากข้อมูลการสำรวจดังกล่าวและจากการรวบรวมข้อมูลของสำนักงานสภาผู้บริโภค ที่ประชุมคณะอนุกรรมการสินค้าและบริการทั่วไป จึงได้พิจารณาแนวทางการจัดทำข้อเสนอทางนโยบายและมาตรการต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการออกประกาศเฉพาะในการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีใช้บริการขนส่งพัสดุเอกชน เพื่อให้มีกฎกติการ่วมกันให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทุกรายต้องมีการถือเงินค่าสินค้าไว้ได้ไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อเป็นการรับประกันตัวสินค้าให้ผู้บริโภคสามารถคืนสินค้าและเรียกเงินคืนได้ทันที รวมทั้งการรับรองสิทธิของผู้บริโภคที่จะสามารถแจ้งความประสงค์ขอเปิดพัสดุเพื่อตรวจสอบสินค้าได้ก่อนจ่ายเงินค่าสินค้า

นอกจากนี้คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาแนวทางส่งเสริมเพื่อให้ผู้ค้าออนไลน์ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ค้าที่ถูกต้องตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบการพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2553  ข้อ 4(2) ที่กำหนดให้การขายสินค้าไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียว หรือหลายอย่างก็ตาม คิดรวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดขายได้เป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้น ไป หรือมีสินค้าไว้เพื่อขายมีค่ารวมทั้งสิ้นเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ต้องจดทะเบียนการค้ากับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถติดตามร้านค้าออนไลน์รายย่อยได้ ด้วยตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 กำหนดขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ค้าที่มีรายได้ต่อปี 1.8 ล้านบาทขึ้นไป ถึงจะต้องมาจดทะเบียนเป็นผู้ค้าตลาดแบบตรงตามกฎหมายฉบับนี้ จึงทำให้ สคบ. ไม่อาจกำหนดให้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือหรือให้บริการต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยืนยันตัวตนเป็นผู้ค้าตลาดแบบตรงในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ได้ ดังนั้นจึงต้องใช้กฎหมายของกระทรวงพาณิชย์มาบังคับใช้ก่อน