ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านการขนส่งและยานพาหนะ ประจำเดือนตุลาคม 2566

สภาผู้บริโภค เดินหน้าจัดตั้งคณะทำงานศึกษาเพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม  ฉบับผู้บริโภคประกบฉบับของหน่วยงานรัฐ หวังให้ผู้บริโภคใช้บัตรโดยสารใบเดียวสามารถเดินทางได้ทุกระบบขนส่ง โดยมีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ ครั้งที่ 8/2566 โดยนายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร กรรมการนโยบาย และประธานคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สภาผู้บริโภค เป็นประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาเรื่อง การจัดทำร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ฉบับประชาชน โดยพระราชบัญญัติบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ…. เป็นหนึ่งในกฎหมาย ๕ ฉบับที่ฝ่ายนโยบายและนวัตกรรมสภาผู้บริโภค กำหนดไว้ในแผนขับเคลื่อนกฎหมายภาคประชาชน เนื่องจากพระราชบัญญัติบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมฯ จะมีส่วนความสำคัญในการกำกับอัตราค่าโดยสาร การขอใบอนุญาต การกำหนดค่าโดยสารร่วม ตลอดจนกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าในการรองรับระบบคมนาคมขนส่งทางรางที่ครอบคลุมเส้นทางของประเทศในอนาคต

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการสามารถเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คณะอนุกรรมการด้านการขนส่งฯ จึงเห็นชอบให้มีคณะทำงานศึกษาและจัดทำร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมฯ โดยมีผู้แทนอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ ได้แก่ ดร.สลิลธร ทองมีนสุข รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ และนายสว่าง ศรีสม เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังได้มีการพิจารณาติดตามประเด็นรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้ ตามที่รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน โดยกระทรวงคมนาคมได้ประกาศนโยบายจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ในกลุ่มรถไฟฟ้าสองโครงการที่บริหารจัดการโดยรัฐ คือ รถไฟฟ้าสายสีแดง (รฟท.) ช่วงตลิ่งชัน – บางซื่อ – รังสิต และรถไฟฟ้าสายสีม่วง (รฟม.) ช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่ กำหนดเริ่มในวันที่ 16 ตุลาคม 2566 นั้น  ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ประกาศสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท เพื่อเป็นการสนับสนุนการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของผู้บริโภคทุกสายในราคราเดียวกัน คณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นชอบในแผนขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ดังนี้

1. สนับสนุนมาตรการระบบฟีดเดอร์เพื่อเชื่อมต่อคนเข้าระบบรถไฟฟ้าในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง พื้นที่นำร่องสถานีหลักหกและสถานีรังสิต โดยให้มีระบบขนส่งมวลชนขนาดเล็ก (feeder) และให้เพิ่มจุดจอดรถจักรยานและรถจักรยานยนต์บริเวณสถานีรถไฟฟ้า

2. สนับสนุนนโยบายรัฐบาลและผลักดันเรื่องราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า ๒๐ บาทในกลุ่มรถไฟฟ้าของรัฐเพิ่มเติม เช่น สายสีน้ำเงิน โดย รฟม.

3. ติดตามสถานการณ์รถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยมีเป้าหมายเรื่องค้านการต่อสัญญาสัมปทาน และ

4. ติดตามสถานการณ์รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกกรณีความไม่โปร่งใสการประมูล

คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นสนับสนุนการตัดทำรถฟ้าค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย โดยเทียบเคียงกับระบบริการขนส่งมวลชนในต่างประเทศซึ่งจะมีมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนและรถไฟฟ้าที่หลากหลาย รวมถึงรูปแบบของรายได้ที่จะมาสนับสนุนมาตรการหรือนโยบายเพื่อทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง จึงเสนอให้ประสานกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อหารือประเด็นงานศึกษาวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรณีการขับเคลื่อนนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เพื่อนำมาประกอบการรณรงค์ขับเคลื่อนประเด็นนี้ต่อไป