สภาผู้บริโภคเตรียมจับมือ ภาครัฐ – พรรคการเมือง ยกระดับนโยบายคุ้มครองผู้บริโภค

สภาผู้บริโภค เพิ่มการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ตั้งเป้าสร้างความเข้าใจผู้ประกอบการเพื่อดูแลผู้บริโภคให้ดีขึ้น หลังพบปัญหารุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น พร้อมเตรียมคุยฝ่ายการเมืองเพื่อผลักดันยกระดับกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าสู่สภาฯ

กรรมการนโยบาย คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค 8 ด้าน ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สภาองค์กรของผู้บริโภค(สภาผู้บริโภค) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนบทเรียนและทบทวนนโยบายการคุ้มครอง สิทธิของผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่ทิศทางการดูแล ปกป้อง คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในปี 2567 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่ปัญหาการละเมิดสิทธิเอาเปรียบประชาชนรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น

โดยที่หลายปัญหาเกิดจากโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจและข้อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม จำเป็นต้องผลักดันมาตรการเชิงนโยบาย และข้อกฎหมายเชิงรุกต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ให้มากขึ้น เพื่อการปกป้องผลประโยชน์ประชาชนในฐานะผู้บริโภคให้เป็นตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค

วันที่ 7 กันยายน 2566 นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภครักษาการหัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม ระบุว่า ข้อมูลที่ได้จากการระดมความคิดเห็นและบทเรียนครั้งนี้ จะทำเป็นแผนงานและการจัดของบประมาณต่อรัฐบาลในปี 2567 ที่จะครอบคลุมนโยบายทั้ง 8 ด้าน อาทิ ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร ด้านสินค้าบริการ ด้านอาหารและยา ด้านราคาพลังงานที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนผู้บริโภค ตามขั้นตอนต่อไป

ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 นี้ สภาผู้บริโภคเพิ่มภารกิจการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อให้เข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นว่า งานคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจของประเทศ แต่ในทางกลับกันยังมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจการค้าของประเทศมีความเข้มแข็ง น่าเชื่อถือ

การสร้างการมีส่วนร่วมนี้ ยังรวมถึงจะเดินหน้าแสวงหาความร่วมมือกับภาคการเมือง ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะจะมีการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างน้อย 5 ฉบับเพื่อผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา อาทิ การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเพิ่มสิทธิผู้บริโภคไทยจาก 5 ประการเป็น 8 ประการตามสิทธิผู้บริโภคสากล การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติอาหารที่มีการบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2522 เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน และการผลักดันพระราชบัญญัติกัญชงกัญชา ที่สังคมกังวลเป็นห่วงเรื่องผลกระทบกับกลุ่มเปราะบางและผู้บริโภคทั่วไป และยังจะเดินหน้าแสดงหาความร่วมมือกับประเทศในกลุ่มเอเชียที่มีกฎหมายและการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้ผล อาทิ สิงคโปร์ และ เกาหลีใต้ ด้วย

ข่าวโดย : ฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาผู้บริโภค