“ทำไมไม่ฟ้องผู้บริหารทุกคน?” ผู้ถือหุ้นกู้สตาร์ค บุกถามดีเอสไอ เรียกหาความเป็นธรรม 

กลุ่มผู้เสียหาย “หุ้นกู้สตาร์ค” บุกดีเอสไอถามเหตุผลกรณีไม่ฟ้องผู้บริหารบางราย พร้อมเรียกร้องให้แถลงข้อเท็จจริงทั้งหมด

จากกรณีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ผู้เสียหายคดีฉ้อโกงหุ้นกู้บริษัทสตาร์ค (STARK) ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดและยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี กรณีมีผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นผู้บริหารบางรายในคดีฉ้อโกงหุ้นกู้ของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไม่ถูกส่งฟ้องในคดีดังกล่าวนั้น

วันที่ 30 มกราคม 2567 จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค และทนายความของผู้เสียหายในคดีหุ้นกู้สตาร์ค และผู้เสียหายจำนวนกว่า 200 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือขอความชัดเจนต่อ พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ (DSI)

จิณณะ  กล่าวว่า จุดประสงค์ของการมาพบดีเอสไอคือเพื่อติดตามสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินคดีหุ้นกู้สตาร์ค ว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มีการสั่งฟ้องอดีตผู้บริหารบางรายที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบและลงนามในเอกสารของบริษัทในช่วงที่ก่อเหตุทุจริตตกแต่งตัวเลขทางบัญชีเพื่อล่อลวงนักลงทุน

นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องให้มีการแถลงข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส ว่าสาเหตุที่ยังไม่ฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้องผู้ถูกกล่าวโทษบางราย หรือกระทั่งสำนวนที่ยื่นฟ้องอ่อนเกินไปนั้นเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานใด พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมา ก.ล.ต. และดีเอสไอได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้เสียหายอย่างเต็มที่แล้วหรือไม่ หรือเป็นเพียงการเตรียมสำนวนหลักฐานเพื่อสนับสนุนให้ผู้บริหารบางราย เช่น นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ หรือนายชินวัฒน์ อัศวโภคี พ้นผิดหรือไม่

“ เราพึ่งรับทราบข้อมูลว่าดีเอสไอ มีคําสั่งไม่ฟ้องชินวัฒน์ อัศวโภคี มาตั้งแต่การสั่งสํานวนชั้น ดีเอสไอแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาสั่งไม่ฟ้องในชั้นอัยการ ด้วยเหตุดังกล่าวทําให้เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม”

จิณณะ กล่าวอีกว่า ผู้เสียหายความกังวลใจและสั่นคลอนความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและบรรดาผู้เสียหายเป็นอย่างมาก  เนื่องจากผู้เสียหายจากการซื้อหุ้นกู้อีกหลายรายได้เข้าให้ปากคํากับดีเอสไอ พร้อมกับข้อมูลหลักฐานยืนยันว่าเป็นผู้เสียหายจากการลงทุนในหุ้นกู้สตาร์คจริง และได้รับการยืนยันจากทางพนักงานสอบสวนว่าจะร้องทุกข์กล่าวโทษ สตาร์คและผู้บริหารทุกรายรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในช่วงกระทําความผิด

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลหลักฐานชัดเจนว่าชินวัฒน์ อัศวโภคี เป็นผู้ลงนามในเอกสารแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวน ครั้งที่ 1/2564 ร่วมกับศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ แต่เหตุใดดีเอสไอจึงไม่มีการแจ้งข้อหาและสั่งฟ้องชินวัฒน์ด้วยประเด็นดังกล่าว จึงขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงสาเหตุไม่สั่งฟ้อง 

ขณะที่เอกสารที่ทางกลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นต่อดีเอสไอ ระบุว่า ในวันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมาพนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีทุจริตใน กรณีหุ้นกู้สตาร์คเป็นจำนวน 7 ราย ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน ข้อหายักยอกทรัพย์และข้อหาฟอกเงิน โดยประกอบไปด้วยนิติบุคคล 5 รายคือ 

1.บริษัท สตาร์ค คอเปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

2 บริษัท เฟ้ลปส์ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด 

3.บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด

4. บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด

5.บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

และบุคคลธรรมดาเพียง 2 ราย ซึ่งได้แก่

1.ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ

2.นาตยา ปราบเพชร

ทั้งนี้ปรากฏว่ายังมีรายชื่อบุคคลอีก 5 รายดังต่อไปนี้ที่อัยการไม่ได้มีคำสั่งทางคดีหรือยังไม่ได้ทำการยื่นฟ้องได้แก่

1. ชนินทร์ เย็นสุดใจ ผู้ถูกกล่าวโทษโดย ก.ล.ต. และดีเอสไอมีคำสั่งฟ้อง (หลบหนี)

2.วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ผู้ถูกกล่าวโทษโดย ก.ล.ต. และดีเอสไอมีคำสั่งฟ้อง (อัยการยังไม่มีคำสั่ง)

3.ชินวัฒน์ อัศวโภคี ผู้ถูกกล่าวโทษโดย ก.ล.ต. และดีเอสไอมีคำสั่งฟ้อง (อัยการสั่งไม่ฟ้อง)

4.กิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม ผู้ถูกกล่าวโทษโดย ก.ล.ต. และดีเอสไอมีคำสั่งฟ้อง (อัยการยังไม่มีคำสั่ง)

5.ยสบวร อำมฤต ผู้ถูกกล่าวโทษโดย ก.ล.ต. และดีเอสไอมีคำสั่งฟ้อง (อัยการยังไม่มีคำสั่ง)

ขณะที่คำสั่งฟ้อง ดีเอสไอ มีคำสั่งฟ้องทั้งหมด 7 ราย ยกเว้น เพียง 1 รายที่ไม่มีคำสั่งฟ้องคือ นายชินวัฒน์ อัศวโภคี ทำให้ผู้เสียหายเดินทางขอความเป็นธรรมและความชัดเจน

ทั้งนี้ที่ผ่านมากลุ่มผู้เสียหายจากหุ้นกู้สตาร์คได้ไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อขอให้มีการตั้งคณะทํางานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และการดําเนินคดีอาญากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทําความผิดของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) และผู้บริหารทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม

ผู้เสียหายหุ้นกู้ STARK หวั่นผู้บริหารรอดคดี บุกร้องนายกฯ ตรวจสอบ 

ตบเท้าเข้าพบ ก.ล.ต. กลุ่มผู้เสียหายหุ้น ‘STARK’ หวั่น “เงินลงทุน” โดนฮุบ

ข้อเสนอแนะและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีหุ้นกู้ STARK

ดอกเบี้ยไม่จ่าย งบการเงินไม่มี กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ ‘STARK’ รวมตัวร้อง ก.ล.ต. ถึงเวลาลงดาบ

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค #TCC #หุ้นกู้ #สตาร์ค #STARK #ลงทุน #การลงทุน #กลต