ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ประจำเดือนสิงหาคม 2566

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาองค์กรของผู้บริโภค ครั้งที่ 7/2566 ซึ่งมี ผศ.ดร. จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ กรรมการนโยบายและประธานคณะอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค เป็นประธาน ได้มีการติดตามนโยบายของรัฐในการพัฒนาที่ดิน 2 เรื่อง

เรื่องแรก คือ แนวทางการขับเคลื่อนประเด็นค่าเช่าที่ดินรถไฟเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยหน่วยประจำจังหวัดกาญจนบุรี สภาผู้บริโภค จัดเวทีประชาคมขึ้นในวันที่ 4 กันยายน 2566 มีการเชิญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการรับฟังความเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย พบว่ามีประเด็นของชาวบ้าน 2 ประเด็น คือหนึ่งมีการสอบถามความพร้อมในการที่จะดำเนินการเรื่องที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยเพื่อการจัดทำเป็นโครงการบ้านมั่นคง สอง คือความต้องการและสภาพปัญหาที่ชาวบ้านภายในพื้นที่พบเจอ คือ ปัญหาการชำระค่าเช่าในลักษณะตั้งโต๊ะชำระค่าเช่า โดยไม่ได้ชำระโดยตรงกับนายสถานี และคณะทำงานชุดใหม่ที่เข้ามามีการเรียกเก็บชาวบ้านย้อนหลังจากที่ชำระไปแล้ว และชี้แจงว่าที่ชาวบ้านได้ชำระไปแล้วและได้ใบเสร็จมานั้น เป็นเอกสารเท็จ จึงเรียกเก็บเงินอีกครั้ง ชาวบ้านจึงต้องชะลอการชำระเงินออกไปก่อน เนื่องจากจะเป็นการจ่ายซ้ำซ้อน

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้ให้ความเห็นต่อการจัดเวทีครั้งนี้ สรุปได้คือ การจะไม่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยขึ้นค่าเช่าร้อยละ 5 ต่อปี อาจจะสามารถทำได้ยาก เนื่องจากเป็นนโยบายของการรถไฟแห่งประเทศไทย และบังคับใช้ทั่วประเทศ แต่กระบวนการเรื่องการชำระค่าเช่า การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องมีความชัดเจน และการชำระเงินให้การรถไฟแห่งประเทศไทยน่าจะทำได้หลายช่องทาง โดยที่ไม่ต้องชำระเป็นเงินสด ควรศึกษาข้อมูลเรื่องการขึ้นค่าเช่า ว่ามีกรณีใดที่สามารถยกเว้นการขึ้นค่าเช่า หรือลดอัตราการขึ้นค่าเช่าได้จากข้อยกเว้นที่กำหนด

เรื่องที่สอง ติดตามเรื่องการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองได้มีการจัดประชุมรับฟังความเห็นภาคประชาชนเป็นครั้งแรกในเรื่องของการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร(ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) โดยเครือข่ายที่ติดตามเรื่องผังเมืองรวม ได้มีการจัดประชุมรับฟังความเห็นภาคประชาชน ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ฯ เห็นว่าควรมีการติดตามการดำเนินการจัดทำผังเมืองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหน่วยงานเร่งรัดจัดทำเพื่อเร่งประกาศใช้ประมาณช่วงปี 2568 และเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการสร้างอาคารต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ง่ายและขนาดใหญ่มากขึ้น รวมไปถึงการเวนคืนที่ดิน ซึ่งโยงไปถึงปัญหาการคมนาคมขนส่ง จึงควรที่จะเชื่อมปัญหาเรื่องอสังหาริมทรัพย์และเรื่องขนส่งสาธารณะเข้าด้วยกัน เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางในการจัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐที่เหมาะสมต่อไป

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค