“เพิ่มคนทุกกลุ่มร่วมออกแบบเมือง” แถลงการณ์รื้อร่างผังเมืองรวม กทม. (ครั้งที่ 4)

5 องค์กรภาคประชาชน ออกแถลงการณ์เรียกร้อง ‘กทม. – ผังเมือง’ ทบทวนร่างผังเมืองรวม กทม. (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) คำนึงถึงประโยชน์คนส่วนใหญ่ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่ เพิ่มประชาชนทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วนร่วมออกแบบเมือง เพื่อการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ระบบของเมือง และความต้องการของประชาชน

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (Sconte) ร่วมกับเครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง (คปช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) มูลนิธิ ศ.อัน นิมมานเหมินท์ และสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ออกแถลงการณ์ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง รวมไปถึงคณะผู้จัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทบทวนกระบวนการรวบรวมข้อมูลเพื่อจะนำไปใช้ในการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครใหม่ทั้งหมด เนื่องจากมีความคิดเห็นว่าเนื้อหาของกฎหมายของที่กำลังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงสิ่งที่ประชาชนต้องประสบกันมาโดยตลอดเกิดจากการปฏิบัติ การตีความข้อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน การบังคับใช้ข้อกฎหมายอย่างไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมไปถึงการละเว้นไม่บังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยในแถลงการณ์ดังกล่าวมีข้อเสนอโดยสรุป ได้แก่ การขอให้มีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ปรึกษาหารือ และให้เพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการออกแบบผังเมือง ทั้งการประชาสัมพันธ์ที่ต้องทำอย่างทั่วถึงผ่านช่องทางสื่อที่หลากหลาย ไปสู่ทุกพื้นที่ ทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และต้องจัดสรรเวลาการประชุมรับฟังความคิดเห็นให้เป็นไปอย่างเหมาะสม การจัดเตรียม หัวข้อ เนื้อหา เอกสาร สื่อนำเสนอ ที่ใช้ในการรับฟังความเห็นให้มีความครบถ้วนและชัดเจนเพียงพอที่ประชาชนจะสามารถเข้าใจ และสามารถตั้งคำถาม รวมไปถึงการนำเสนอ แลกเปลี่ยน และการประชุมรับฟังความเห็นต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่

ทั้งนี้ รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้ด้านการผังเมือง หรือผู้ที่ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องจากองค์กร หรือสถาบันต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากคณะผู้จัดทำที่ปรึกษาผู้ร่วมจัดทำร่างผังเมืองชุดเดิม ที่เคยทำขึ้นมาไว้แล้วเอามาใช้นำเสนอตั้งแต่ปี 2561 ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นกับภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเพื่อป้องกันไม่ให้การจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) เกิดขึ้นจากความเห็นของคณะผู้จัดทำเพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากผังเมืองที่กำลังพัฒนาอยู่เป็นผังเมืองที่คณะผู้จัดทำดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561

อีกทั้งขอให้รวบรวมประเด็น และรายละเอียดต่าง ๆ ที่เคยได้รับฟังจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนหลายครั้งที่ผ่านมามาวิเคราะห์เพื่อพัฒนา ปรับปรุง รวมไปถึงประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน และนำเข้าสู่กระบวนการการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนใหม่ เพื่อให้มีการปรับปรุงรายละเอียดในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่ ระบบของเมือง และความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ข้างต้น ยังระบุถึงกฎหมายผังเมืองที่มีส่วนเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่น ๆ อีก เช่น กฎหมายควบคุมอาคาร กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ที่ถูกนำไปใช้ในการควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาเมือง และการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ล้วนมีเจตนารมณ์ที่ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อนในหลายมิติ ดังนั้น หากมีการละเลยหรือละเมิด รวมไปถึงการละเว้นไม่ปฏิบัติหรือบังคับใช้กฎหมาย จะส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ทั้งในเรื่องของสวัสดิภาพ ความปลอดภัย สุขอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในระดับชุมชน และระดับเมือง

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น การกำหนดระยะความกว้างของถนนสาธารณะให้มีความสัมพันธ์กับขนาดพื้นที่อาคาร เมื่อมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ กฎหมายจะกำหนดให้ถนนสาธารณะมีความกว้างมากขึ้นด้วยเช่นกัน เพื่อให้ถนนสาธารณะมีความกว้างมากเพียงพอต่อการอำนวยความสะดวกในเรื่องของการจราจร ทั้งในยามปกติ หรือในยามที่จำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องมีการขนย้าย อพยพ หรือการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติต่าง ๆ

ในปัจจุบันพบปัญหาเพิ่มขึ้นจากการละเมิด การตีความข้อกฎหมาย การละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ จนทำให้อาคารขนาดใหญ่เข้าไปสร้างในพื้นที่ชุมชน จำนวนหลายชุมชนที่ระยะความกว้างถนนไม่สัมพันธ์กับขนาดพื้นที่อาคารที่ก่อสร้าง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากตัวอย่างปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติงานต่าง ๆ ที่แสดงข้างต้นเป็นเพียงบางปัญหาเท่านั้น ที่แม้ว่าจะมีกฎหมายผังเมืองฯ กฎหมายควบคุมอาคาร และกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นผู้ดูแลอยู่ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับสร้างปัญหาและสร้างผลกระทบความเสียหายอย่างมากต่อชุมชนและประชาชนส่วนใหญ่อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ในส่วนของกฎหมายผังเมืองที่มีอยู่ควรต้องถูกพิจารณาปรับแก้เนื้อหาในกฎหมายออกมาอย่างรอบด้าน ถี่ถ้วน และมีการประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้หรือไม่บังคับใช้ในเนื้อหาของกฎหมายเดิมที่มีอยู่ ส่วนร่างกำหนดเนื้อหาในร่างกฎหมายผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่กำลังจัดทำขึ้นมาใหม่นี้ควรให้มีผลในการบังคับใช้ทางกฎหมายได้จริง และควรมีการระบุบทลงโทษที่ชัดเจนต่อผู้ที่ละเมิด หรือละเว้นการใช้กฎหมายโดยต้องมีการตรวจสอบเป็นระยะอย่างเคร่งครัด ไม่ปล่อยปละให้มีการละเมิด บิดเบือนกฎหมาย อนุมัติผ่านและให้ก่อสร้าง แต่สุดท้ายกลับต้องมาแก้ไขหรือเปลี่ยนสีในผังเมืองให้เข้ากับการใช้งานที่ถูกรุกรานละเมิด โดยที่ไม่ทำตามประเภทของการใช้ประโยชน์ที่ดินที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค