หารือ ‘ติ๊กต็อก’ ร่วมป้องกันปัญหา ซื้อสินค้าออนไลน์

ตัวแทนติ๊กต็อก (TikTok) พบผู้บริหารสภาผู้บริโภค หารือแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคป้องกันมิจฉาชีพหลอกขายสินค้าให้ผู้บริโภคผ่านแอปฯ ด้วยการเพิ่มการตรวจสอบผู้ขายให้รัดกุม ส่งเสริมผู้ขายจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เสนอให้เปิดสินค้าก่อนจ่ายเงินได้ รวมทั้งมีตัวกลางถือเงินของลูกค้าไว้ 5 วัน (Escrow Payment) ก่อนโอนเงินให้ร้าน พร้อมให้ช่องทางสภาผู้บริโภคก็ตรวจสอบโฆษณาเกินจริง

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภค ร่วมประชุมกับ ชนิดา คล้ายพันธ์ และ สิริประภา วีระไชยสิงห์ ผู้ดูแลความสัมพันธ์ภาครัฐ จากแอปพลิเคชันติ๊กต็อก (TikTok) เพื่อหารือแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคในการป้องกันมิจฉาชีพหลอกขายสินค้าให้ผู้บริโภคผ่านแอปฯ ติ๊กต็อก รวมถึงการหารือแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคอื่น ๆ ที่จะมีร่วมกันต่อไปในอนาคต

โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ได้นำเสนอภาพรวมปัญหาที่ผู้บริโภคพบเจอส่วนใหญ่เป็นประเด็นการจากการซื้อขายออนไลน์ ทั้งในช่องทางตลาดออนไลน์ (E-marketplace) เฟสบุ๊ก หรือการซื้อสินค้าผ่านติ๊กต็อก (ติ๊กต็อกช้อป : TikTok Shop) ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการได้รับสินค้าไม่ตรงปก การใช้คำโฆษณาที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด การใช้ราคาสินค้าที่ถูกเกินจริงเพื่อหลอกล่อให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ การจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการถ่ายทอดสดขายสินค้า (การไลฟ์ขายสินค้า) ที่ใช้คำโฆษณาเกินจริงเพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้มาซื้อสินค้า และเมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้ามาใช้พบว่าสรรพคุณไม่เป็นไปตามที่กล่าวอ้าง แต่ทั้งนี้ไม่มีหลักฐานเพราะเป็นการไลฟ์ขายสินค้าและไม่สามารถเก็บหลักฐานย้อนหลังได้ ดังนั้นสภาผู้บริโภคจึงเสนอให้แอปฯ ติ๊กต็อกต้องตรวจสอบผู้ขายสินค้าขณะที่มีการถ่ายทอดสดด้วย อีกทั้งอาจจะต้องให้ผู้ขายจำเป็นต้องจดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ก่อนที่จะขายในติ๊กต็อก ช้อป ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคหากพบปัญหาเกี่ยวกับการซื้อขายออนไลน์

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภค มีความยินดีที่แอปฯ ติ๊กต็อกได้เข้ามาหารือความร่วมมือเพื่อนำไปพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคพบปัญหาซื้อของไม่ตรงปกเป็นจำนวนมาก จึงเห็นว่าหากผู้บริโภคสามารถเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงินได้คาดว่าจะช่วยลดปัญหาของผู้บริโภคที่ต้องไปแจ้งความหรือร้องเรียนกรณีได้ของไม่ตรงปกได้ ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงเสนอให้แอปฯ หารือร่วมกับบริษัทขนส่งพัสดุต่าง ๆ ให้ผู้บริโภคสามารถเปิดสินค้าก่อนจ่ายเงินได้ นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคได้เสนอแนวทางการเตือนภัยผู้บริโภคเพิ่มเติมในรูปแบบของวิดีโอ โดยเสนอให้มีการให้ความรู้หรือแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับการซื้อขายออนไลน์คั่นหน้าการไลฟ์ขายสินค้า รวมถึงการแจ้งเตือนผู้บริโภคก่อนโอนเงินซื้อสินค้า เช่น อย่าลืมตรวจสอบประวัติและชื่อผู้ขายให้ดีก่อนโอนเงิน เช่นเดียวกับที่หลาย ๆ ธนาคารมีการแจ้งเตือนก่อนโอนเงิน

“เราเข้าใจว่าทุกคนมีสิทธิขายของ แต่ต้องขายของอย่างตรงไปตรงมา ถ้าผู้ขายจริงใจกับผู้บริโภค ปัญหาการหลอกลวง การได้รับของไม่ตรงปกก็จะไม่เกิดขึ้น และอยากให้ติ๊กต็อกให้ความสำคัญกับการขายของในแพลตฟอร์มออนไลน์และร่วมมือกันทำให้การขายของในออนไลน์ปลอดภัยกับผู้บริโภค” สารีระบุ

ขณะที่ตัวแทนจากแอปฯ ติ๊กต็อก เปิดเผยว่า ก่อนที่ผู้ขายจะได้จำหน่ายสินค้าในติ๊กต็อกช็อปได้นั้น ต้องมีการลงทะเบียนและผ่านการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อยืนยันบัญชีผู้ขายทุกครั้ง จึงจะสามารถจำหน่ายสินค้าในติ๊กต็อกช็อปได้ และแอปฯ จะไม่อนุญาตให้มีการขายสินค้าที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งแอปฯ ยังมีระบบตัวกลางในการถือเงินของลูกค้าไว้ 5 วัน (Escrow Payment) และหากลูกค้าพึงพอใจในสินค้าจึงจะโอนเงินให้กับร้านค้า แต่ทั้งนี้ยังพบช่องโหว่ที่ผู้ขายที่ไม่สุจริตได้ใช้ช่องทางการสนทนา (Chat) หลังบ้านกับผู้ซื้อเพื่อโอนเงินให้ร้านโดยตรง โดยไม่ผ่านแอปฯ

ขณะที่กรณีร้านค้าไลฟ์ขายสินค้าในแอปฯ ติ๊กต็อกนั้น ก่อนผู้ขายจะถ่ายทอดสดขายของต้องมีการลงทะเบียนเหมือนร้านค้าทั่วไป และต้องผ่านการอนุมัติก่อนจึงสามารถถ่ายทอดสดขายของได้ เมื่อมีการถ่ายทอดสดขายของจะมีทีมคอยติดตามว่าสินค้าที่กำลังขายในไลฟ์ว่าตรงกับสินค้าที่ลงทะเบียนหรือไม่ และหากผู้บริโภคพบปัญหาสามารถตรวจสอบบัญชีผู้ขายได้ ส่วนกรณีการให้ผู้บริโภคสามารถเปิดสินค้าดูก่อนจ่ายเงินได้ อาจจะเพิ่มภาระให้ผู้ขายและบริษัทขนส่ง ซึ่งส่วนนี้ติ๊กต็อกอาจต้องหาแนวทางที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่แอปฯ รับข้อเสนอนี้ไว้เพื่อปรึกษาหารือกับทางทีมต่อไป

“การให้ข้อมูลความรู้กับผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งบางข้อเสนอที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมในหน้าแอปฯ อาจปรับเปลี่ยนได้ยาก แต่ข้อเสนออื่น ๆ ติ๊กต็อกจะนำข้อมูลที่สภาผู้บริโภคได้เสนอแนะไปหารือกับทีมอีกครั้งเพื่อพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป อีกทั้งติ๊กต็อกได้ให้ช่องทางพิเศษสำหรับสภาผู้บริโภค คือ ช่องทางหุ้นส่วนชุมชน Community partner channel (CPC) เมื่อพบเนื้อหาที่ต้องการให้ตรวจสอบ เช่น การขายสินค้าที่ใช้คำโฆษณาเกินจริง ผู้ที่เป็นหุ้นส่วนหรือพาทเนอร์สามารถแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมให้กับทางทีมติ๊กต็อกได้และทีมจะทำการตรวจสอบและแก้ไขให้ภายใน 72 ชม.”  สิริประภาระบุ

ท้ายสุด สภาผู้บริโภคเชิญชวนผู้บริโภคเตรียมพบกับแคมเปญ #saveหัวกันน็อก ของสภาผู้บริโภคได้ที่แอปพลิเคชันติ๊กต็อกและช่องทางประชาสัมพันธ์อื่น ๆ ของสภาผู้บริโภค และชวนทุกคนร่วมกันรณรงค์สวมหมวกกันน็อกที่มีมาตรฐาน ม.อ.ก. คู่กับคิวอาร์โค้ด (QR Code) และร่วมกันแบนหมวกกันน็อกตกมาตรฐานให้หมดไปจากท้องตลาด รวมถึงช่องทางการขายทางออนไลน์ เพื่อให้ทุกคน ทุกพื้นที่ได้สวมใส่หมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐาน

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค